“สูเจ้าสบายดี”
เที่ยวนี้ขอทักทายแบบภาษาคนไทลื้อสิบสองปันนา เพิ่งไปเที่ยวมาครับ ผมน่ะไม่ค่อยสบายดี เล่นเอาสะบักสะบอมเหมือนกัน เพราะสิบสองปันนาเป็นเขตปกครองตนเองอยู่ในมณฑลยูนนานของจีน แต่ลงมาทางตอนล่าง เมืองเอกของยูนนานคือคุนหมิง ห่างจากสิบสองปันนาถึง 600 กว่าโล แต่สิบสองปันนาห่างจาก อ.เชียงของ ใน จ.เชียงรายแค่ 400 กิโลเมตรต้องใกล้กว่าแน่ๆ
อย่ากระนั้นเลยผมกับพรรคพวก มีญาติฝรั่งคนนึงไปด้วย เลยจองทัวร์นั่งเครื่องบินไปลงเชียงราย หารู้ไม่ว่าจากสนามบินต้องนั่งรถไปเชียงของอีก 120 กิโล พักรีสอร์ทหนึ่งคืน แล้วรุ่งเช้าทำพิธีตรวจคนออกเมืองเข้าเมือง ลงเรือข้ามฟากไปฝั่งลาว เรียกว่าฝั่งห้วยทราย นั่งรถตู้คดเคี้ยว กระดกกระดอนไปอีก 200 กว่าโล ถึงจะถึงชายแดนจีน เปลี่ยนเป็นนั่งรถบัส นั่งรถไปอีก 250 กิโลเมตร ถึงจะถึงเมืองเชียงรุ้ง เมืองหลวงของสิบสองปันนา
เดินทางไป 2 วัน รวมนั่งเครื่องบิน พัก 1คืน เดินทางอีกวัน ผลปรากฎวันรุ่งขึ้นเด็กสาวๆ ที่ไปในคณะ เดินชมนกยูงในสวนป่าอยู่ดีๆ เป็นลมล้มพับถึงกับต้องให้น้ำเกลือ ที่จริงเขามีเครื่องบินจากเชียงรายไปลงเชียงรุ้งเลย เผอิญทัวร์นี้ไม่ตรงเวลากับที่คณะผมต้องการ และแพงกว่าอีกพอควร
คนที่ร่างกายดีไม่เมารถง่าย ก็ไปเที่ยวเถอะครับ สิบสองปันนา ตลอดทางฝั่งลาว วิวสวยมาก ทางคดโค้ง เลียบภูเขา เห็นหุบเหว ภูเขาสลับซับซ้อน ฝั่งจีน ติดชายแดนลาวมีดงกล้วยหอมนุ่งผ้าถุงสีฟ้า ยังได้ลอดอุโมงค์ยาวๆ นับสิบที่เมืองไทยไม่มี บางแห่งยาวถึง 3 กิโล
บ้านเมืองผู้คนก็ดูใจดี ไม่เหมือนเที่ยวเมืองจีนนัก หน้าตาปนจีน ปนลาว ปนพม่า สิ่งก่อสร้างชอบมีหงอนๆ หรือช่อฟ้า แบบบ้านเรา หลังคายังเหมือนวัด เดินเข้าโรงแรมยังนึกว่าเข้าวัด ทั้งเมืองตึกรามสร้างหน้าตาอย่างนี้กันหมด ถามคนที่เขาเคยไปเมื่อ 10 ปีก่อน ว่าเป็นยังไง เขาบอก เปลี่ยนไปหน้ามือหลังมือ เมื่อก่อนเหมือนท้องทุ่ง ตึกรามไม่ค่อยมี มาตอนนี้เมืองขยายออกไปมาก สิ่งก่อสร้างกำลังสร้างเป็นทิวแถว ถนนหนทางนับว่าใช้ได้ แต่ที่ยังเหมือนเดิมอยู่คืออะไรทราบมั้ยครับ
ส้วม ครับ ส้วม พวกทัวร์เรียกส้วมในเมืองจีนว่า ส้วมชะโงก คือชะโงกดูหน้ากันได้ตอนดำตอนแดง เข้าส้วมไปอาจมีประตูหรือไม่มีประตู และมีฉากกั้นครึ่งตัว พอนั่งบนส้วมยองๆ เลยโผล่หน้าทักทายกันได้ อย่างนี้ถือว่าดีแล้ว แบบอนุรักษ์จริงๆ เป็นรางยาว ไม่ต้องมีฉากกั้นล่ะ คนท้ายแถวรู้หมดว่าเมื่อวานนี้คนหัวแถวกินอะไรมา หลักฐานมันฟ้อง ส่วนปลายท้าย มีช่องไหลออกลงบ่อหมัก เอาไว้ตักรดสวนผักต่อไป ผมเคยเจอส้วมแบบนี้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่หนานหนิง ในมณฑลกวางสี อยู่เหนือเวียดนามขึ้นไป เป็นส้วมแบบชาวบ้าน สมัยนี้อาจจะไม่เจอแล้ว ถ้าไปเข้าส้วมตามปั๊ม สถานที่ทันสมัย ที่ท่องเที่ยว ก็เหมือนส้วมบ้านเรา มีทั้งนั่งโถ นั่งยอง มีปุ่มที่พื้นให้กดเหยียบปล่อยน้ำชำระด้วย แต่ไม่รู้เป็นอะไร คนที่นั่นเขาไม่ชอบกดน้ำราดกัน ทิ้งหลักฐานไว้ให้ดูต่างหน้าอย่างงั้นแหละ
ส่วนส้วมตามตลาด ต้องกลั้นหายใจ ทายาหม่องก่อนเข้า กลิ่นนั้นสุดบรรยายรัญจวนใจ ผู้ชายยังไม่เท่าไหร่ ชมวิวตรงไหนก็ได้ แต่ผู้หญิงนี่ซิ เดือดร้อนแสนสาหัส อากาศที่เมืองจีนค่อนข้างหนาว นั่งรถแอร์ยิ่งหนาว ต้องกำจัดน้ำส่วนเกินกันบ่อยๆ ใครฤาจะทนได้
สิบสองปันนา มาจากคำว่า สิบสองพันนา หรือ นา สิบสองพัน แปลเป็นไทยอีกทีคือ 12,000 เรียกว่ามีนาเยอะมาก ช่วงที่ไปหน้าแล้ง นาจึงไม่ค่อยเขียว บางทีก็เรียกสิบสองปันนาว่า เชียงรุ้ง หรือ เชียงรุ่ง แปลว่ารุ่งเรือง ส่วนคนจีนออกเสียงเป็น จิ่งหง สรุปว่าคือสิบสองปันนา ทั้งนั้น
คนส่วนใหญ่เป็นคนไทลื้อ อยู่ในตระกูลคนไท หรือ ไต เหมือนกัน สมัยผมเด็กๆ เราเรียนว่า คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ค่อยๆ ถอยร่นลงมาจนถึงสุวรรณภูมิเป็นคนไทยทุกวันนี้ แต่อีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่า คนไทย คนไต อยู่กันมาตรงนั้นแหละ ขยายเผ่าพันธุ์กันไปเรื่อย บ้างก็อพยพมาตามกาลเวลา โดนกวาดต้อนมาบ้าง ไทยเอง สมัยรัชกาลที่ 1 ส่งทัพขึ้นไปรบถึงสิบสองปันนา ยังกวาดต้อนคนลงมาเมืองไทย เชื้อชาติไทยลื้อ ยังมีอยู่ในพม่า ตอนเหนือของไทย ลาว เวียดนาม ไม่ว่าจะทฤษฎีไหน ก็พอบอกได้ว่าคนในพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ มีบรรพบุรุษและวัฒนธรรมร่วมกัน จึงมีคนพูดภาษา หน้าตาคล้ายๆ กัน อย่างคนไทยลื้อก็นับ 1-10 เหมือนคนไทย ตอนชมการแสดงของสิบสองปันนา เป็นการรำผสมผสานไทย จีน ลาว กัมพูชา อินเดีย พม่า ซึ่งเขาตั้งชื่อโชว์ว่า โชว์พาราณสี (ไม่เกี่ยวกับเมืองพาราณสีแต่อย่างใด) ก่อนเข้าการแสดงแต่ละชุด สาวเจ้าเอื้อนว่า “ต่อไปนี้....” เป็นการแสดงอะไร หลังจากนั้นฟังไม่รู้เรื่องแล้ว อีกสองคำที่ฟังแล้วน่ารักคือ “สาวตัวดี” “บ่าวตัวดี” หมายถึง ผู้หญิง และ ผู้ชาย
คนสิบสองปันนาเลยพูดทั้งภาษาไทลื้อและภาษาจีน ตามป้ายต่างๆ ต้องมีสามภาษา จีน ฝรั่ง ไทยลื้อซึ่งหน้าตาเหมือนตัวอักษรพม่า อ่านไม่ออก คนไทลื้อมีเฉพาะผู้ชายที่เขียนภาษาไทยลื้อได้ เพราะเรียนกับพระ ผู้หญิงห้ามเรียน ปัจจุบันคงน่าจะเรียนรู้อ่านกันได้ทั่วถึงแล้ว
เมื่อเดินเข้าหมู่บ้านไทลื้อ นึกว่าอยู่แถวภาคเหนือ เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง สุมฟืนไว้ใต้บ้าน บนบ้านเป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น ครัว เตาไฟ สาวตัวดีนุ่งซิ่น เสื้อแขนกระบอก ชุดออกงานสีสันจะสดใส ชมพู ฟ้า มองแล้วน่ารื่นรมย์เป็นอย่างยิ่ง แต่ก็มีสาวรุ่นสมัยใหม่แต่งตัวแบบหมวยทันสมัย นุ่งกระโปรงหนังถุงน่องดำ เสื้อดำ เสื้อแดง รองเท้าส้นสูง เดินอยู่ในตลาด นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่า คุณเธอคนนี้เวลาเข้าห้องน้ำเมืองจีนจะทำอย่างไร
โปรแกรมทัวร์ที่พาไปสิบสองปันนา มักจะพาไปดูการแสดงฝูงนกยูงบินลงจากยอดเขา ในสวนป่าดงดิบ นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของสิบสองปันนาในแง่ความงามแบบผู้หญิง พอๆ กับที่ ช้างเป็นสัญลักษณ์ของสิบสองปันนาในแง่ความแข็งแกร่ง ไปที่ไหนจึงมีทั้งสองสัญลักษณ์นี้แพร่หลาย
อันที่จริงสวนป่าดงดิบของเขาอยู่ในหุบเขา มีรถกอล์ฟพานั่งวิ่งชมวิวสบาย ทางเดินทำดี เหมือนอยู่ในสวนสาธารณะมากกว่าป่า ไม่ต้องปีนป่ายเหมือนเขาใหญ่ หรือ ภูกระดึง
ที่ผมเรียกว่าการแสดงฝูงนกยูง เพราะเขาจัดไว้ตรงบึงใหญ่ เขาน่าจะจับนกยูงนับร้อยตัวขังไว้ในกรงบนยอดเขา (ผมเดาเอา ไม่งั้นยังไม่ถึงเวลา มันคงบินเพ่นพ่านไปหมด) พอถึงรอบการแสดง สาวตัวดีหิ้วกระเช้าอาหารนกมาเป่านกหวีด คนบนเขาก็เปิดกรง นกยูงบินทะยอยลงมาเป็นร้อยน่าตื่นตาตื่นใจ ยังกะมีลวดสลิงชักรอก แล้วนกยูงมันแสนเชื่องกินข้าวจากมือนักท่องเที่ยวได้เลย (แหงล่ะ มีอาหารนกขายด้วย) แถมยังมีนกยูงดาราเอกอีก 3 ตัว ผูกไว้ ให้คนถ่ายรูปเก็บตังค์ มีช่างภาพให้เสร็จสรรพ อยากได้รูป เลือกปริ้นท์ออกมาจากคอมพิวเตอร์ตรงนั้นเลย รูปละ 20 หยวน (100 บาท 1 หยวน เท่ากับ สี่บาทกว่าเยอะๆ เกือบ 5 บาท)
ทัวร์เมืองจีน ไม่ว่าไปที่ไหนทุกที่ ต้องมีตากล้องมาถ่ายรูปเราก่อนเข้าสถานที่ พอออกมา ก็ได้เห็นรูปเราเลย ไม่เอาไม่ว่ากัน เดี๋ยวนี้อยู่ในคอมพิวเตอร์ลบได้หมด เมื่อก่อนต้องอัดออกมาใส่กรอบ หรือแปะบนจาน พอเราไม่เอา ต้องแกะออก โยนทิ้งเปล่า
ไฮไลท์ของทัวร์สิบสองปันนา ต้องพาไปดูโชว์พาราณสีที่เอ่ยถึง นั่งดูในโรงละครใหญ่ พอๆ กับดูภูเก็ตแฟนตาซี ผมว่าของเราสวยกว่า การแสดงเป็นชุดๆ แสงเสียงใช้ได้ มีเหาะเหินเดินอากาศ มีฉากเล่นน้ำสงกรานต์ให้คนดูเปียกปอนกันด้วย (เขาแจกพลาสติกกันเปียกให้ พอจบฉาก มีผ้าขนหนูตามมาให้เช็ดด้วย เฉพาะคนนั่งแถวหน้าๆ ) ที่สิบสองปันนามีวันสงกรานต์วันเดียวกับเรา แต่สาดน้ำวันเดียว และจำกัดอยู่เฉพาะแห่ง ปีนี้ใครอยากไปสาดน้ำถึงสิบ
สองปันนาก็ไปได้ครับ ชุดสุดท้ายเป็นโชว์การแต่งกายของนานาชาติ สาวไทยใส่หัวเป็นพระบรมหาราชวัง สาวเขมรใส่หัวเป็นเหมือนปรางค์สามยอด อีกสาวหนึ่งไม่รู้ชาติไหน อาจจะเป็นลาวน่าสงสารที่สุด เพราะเธอต้องจำใจใส่เป็นชุดเจดีย์ โผล่เห็นแต่หน้า ไม่ได้เห็นหุ่นอะไรเลย
โชว์พาราณสีจุดเด่นที่ทุกคนอยากดูคือ ได้ดูสาวตัวดีหุ่นดีๆ ตัวขาวๆนุ่งห่มน้อยชิ้น ออกมาร่ายรำ แต่ตอนท้ายเมื่อโรงละครเลิก ผมชักไม่แน่ใจกับสาวตัวดีบางคน เมื่อออกมายืนส่งแขก ถ่ายรูป ว่าเธอเป็นสาวตัวดี หรือ บ่าวตัวดีกันแน่ เพราะทั้งสูง ใหญ่จัง
โปรแกรมที่เหลือจะเป็นวัด ไหว้พระพุทธองค์ใหญ่ ชมถ้ำติดไฟสวยงาม หมู่บ้านไทลื้อ
อาหารพื้นเมืองสิบสองปันนา ด้านซ้ายคือ สาหร่ายไก
เที่ยวสิบสองปันนาแบบผม ไม่ยุ่งขิงเรื่องกินเลยเห็นจะใช่ที ไปที่ไหนตรงไหนผมก็สอดส่ายมองหาของกินแปลกๆ แต่พับผ่าเถอะ หาอะไรกินไม่ค่อยเจอ เช้ามาเมืองยังไม่ตื่น เย็นลงเมืองก็เหงาๆ เย็นวันหนึ่ง พรรคพวกนึกครึ้มจะหาที่กินเบียร์ในเมือง หาไม่ได้สักกะที่ ต้องซื้อเบียร์มานั่งกินที่โรงแรมกัน เข้าตลาดเช้าไทลื้อ มีพืชผักนานาชนิด รู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง อาหารเจออยู่อย่างหนึ่งคือขนมจีน มีทั้งเส้นหมัก เส้นแห้งเป็นขดๆ ยืนยันความคิดผมได้ว่า ขนมจีน เป็นอาหารที่แพร่หลายอยู่ในภูมิภาคนี้ อาจจะมาจากจีนมากกว่าเริ่มต้นจากมอญ อย่างที่หลายคนชอบพูดกันว่า ขนมจีน ในภาษามอญเรียก คะนอมจิน แปลว่า ทำแป้งให้สุก แต่ผมว่ามอญนั้นคงรับมาจากจีนเหมือนกัน เพียงแต่คำพูดคำจาเสียงไปฟังคล้ายกัน จึงโมเม คะนอมจิน เป็น ขนมจีน
แกงที่เขาเอามาราดขนมจีน กับก๋วยเตี๋ยว มีส่วนผสมของน้ำพริกแกงกลิ่นออกแรงกว่าไทย กระเดียดไปทางพม่า ใส่หมูสับ ใส่ผักดอง พริกผัดแดงๆ คนของเขากินก๋วยเตี๋ยวรถเข็น เพิงหน้าร้าน แม้แต่ก๋วยเตี๋ยวบุฟเฟ่ท์อาหารเช้าในโรงแรม กินกันชามใหญ่มาก คนไทยเห็นแล้วกลัว มีซีอิ๊ว และผงชูรสใส่ถ้วยไว้ให้ด้วย
ในตลาดเจอปาท่องโก๋ตัวยาว ซาละเปา หมั่นโถว ข้าวหลาม สาวคนหนึ่งในคณะลองซื้อข้าวหลามกินดู ชืดๆ ดี
อาหารพื้นเมืองจริงๆ กินคล้ายเมืองเหนือเราเลยครับ มีข้าวเหนียวนึ่ง ขาว ดำ น้ำพริกคล้ายน้ำพริกตาแดง ไม่ค่อยเผ็ด ผักลวก จิ้นหมู คือ หมูทอด แกงใส่ผักแบบแกงอ่อมเมืองเหนือ แต่ไม่จัดจ้าน ต้มยำไก่ก็มี ออกเค็มนำเปรี้ยว ไม่เผ็ด ไก่ย่าง (ของเราอร่อยกว่าเยอะ) แล้วก็มีสาหร่าย “ไก” จากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของสิบสองปันนา ภาษาเขาเรียกเป็น “ไกน้ำของ” สาหร่ายนี้นำมาทำแห้งกินเล่นได้ เขาว่ามีประโยชน์โปรตีนสูง บ้านเราแถบชายแดนแม่น้ำโขงก็เก็บสาหร่ายนี้มาทำอาหาร เรียกว่าไกเหมือนกัน นักวิจัยธรรมชาติบอกว่า ความอุดมสมบูรณ์ของสาหร่ายไก เป็นตัววัดความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงด้วย เมื่อไหร่ ช่วงไหน แม่น้ำโขงตื้นเขิน สกปรก สาหร่ายไกจะหายไปด้วย เพราะมันชอบน้ำใสไหลแรง
ปลาที่เขากินกันเป็นปลานิล เพราะเพาะเลี้ยงได้ง่าย เป็นปลาน้ำจืดปลาน้ำเค็มอย่างปลากะพงไม่ต้องไปถามหา ปลานิลเขาจะเอามายัดไส้เครื่องเทศ ตะไคร้ กระเทียมแบบแรา นำไปย่าง บางร้านนำไปนึ่งซีอิ๊ว ก็ใช้ได้ แต่บางคนไม่ชินกลิ่นปลาน้ำจืด จะว่าเหม็นคาว ที่จริงเหม็นกลิ่นโคนต่างหาก วิธีแก้ปลาเหม็นโคลนอย่างปลาช่อน คือต้องจับขังไว้ในน้ำนานๆ จนกลิ่นโคนออก และใช้ไฟหุงต้มแรง น้ำเดือดๆ ทั้งการต้มหรือนึ่ง
อาหารทัวร์ ในร้านอาหารค่อนข้างใช้ได้ ออกเลี่ยน และมันหน่อย มีพริกใส่มาด้วยพอเผ็ดๆ จานหนึ่งผมติดใจเป็นซี่โครงหมูทอด ใส่ขิง ใส่พริกทอด กินเล่นๆ เพลินดี วิธีทำผมเดาเอาไม่น่ายาก
ซี่โครงหมูทอดพริกกะขิง (ผมตั้งชื่อของผมเอง)
เอาซี่โครงหมูติดเนื้อสับท่อนเล็ก มาหมักเกลือ พริกไทย ซอสปรุงรสด้วยก็ได้ ถ้าเป็นกุ๊กจีนต้องเหยาะผงชูรสลงไปไม่ให้ขาดกระสาย อยากให้เปื่อยนุ่มมาก ๆ ไปร้านขายเครื่องทำขนม ซื้อเบคกิ้งโซดา หรืออีกชื่อคือ โซดาไบคาร์บอเนต ใช้ทำขนมอบแบบเดียวกับผงฟู มาเหยาะลงไปปลายช้อนกาแฟ คลุกๆ หมักไว้สักสองชั่วโมง
แล้วมาเตรียมเครื่องอื่นระหว่างรอ เป็นขิงแก่ยิ่งแก่ยิ่งเผ็ด เขาถึงบอกว่าอย่าดูถูกคนแก่ทีเดียวเชียว เอามาหั่นเป็นชิ้นบางๆ ทั้งเปลือก (อย่าลืมล้างให้สะอาดก่อน) แล้วนำไปทอดจนกรอบ ผมว่าถ้าจะให้กรอบดี เอาขิงที่หั่นแล้วนี้ไปตากแดดพอแห้งสักหนึ่งแดด ค่อยเอามาทอด จะง่ายขึ้น
ส่วนพริกทอดใช้พริกขี้หนูแห้งเม็ดยาว ลงไปทอดน้ำมันท่วม เตรียมไว้ คนไม่กินเผ็ดให้หั่นพริกเป็นท่อนๆ ก่อนทอด เมล็ดจะหลุดออกหมด ไม่เผ็ด
พอถึงเวลาเสิร์ฟ นำซี่โครงหมูที่หมักไว้มาคลุกแป้งสาลีแห้ง ลงทอดน้ำมันร้อนๆ ไฟกลาง ตักใส่จานเอาพริกกะขิงทอดโรยคลุกลงไป แทะหมู กินขิง สลับพริก ได้รสเผ็ดร้อน หอมปากหอมคอดี ขิงยังเป็นยาช่วยย่อย ขับลมเรอเอิ๊กๆ ดีนัก
ยังไม่หมด ผมมั่วสูตรอาหารมาได้อีกจาน
ผัดพริกหวานเบคอน
พริกหวานเขียวหั่นเป็นชิ้นย่อม จะเอาพริกหวานแดง เหลือง ด้วยก็ได้ แต่ในเมืองไทยค่อนข้างแพงกว่าพริกเขียวมาก และพริกเขียวกรอบกว่า เนื่องจากมันยังไม่สุกนั่นเอง เมล็ดทิ้งไปไม่เอา
ตีกระเทียมสับเป้งๆ เบคอนเอาแบบติดมันน้อยหน่อย ราคาแพงหน่อย
ใส่กระเทียมลงเจียวกับน้ำมันพอหอม ใส่เบคอนลงไปทอดพอสุก ไม่ต้องให้กรอบเหมือนกับที่หลายคนชอบทอดกินกับไข่ดาว (แคลอรี่ และ ไขมันอิ่มตัวสูงลิบ) พอเบคอนหอมโชยดี ใส่พริกหวานลงผัด เติมซีอิ๊วนิด เกลือหน่อยจะดึงรสเค็มออกมาไม่เหมือนกัน น้ำตาลทรายไม่ต้อง ผมไม่นิยม ผงชูรสอย่าลืมเดี๋ยวผิดธรรมเนียมกุ๊กจีน ไม่งั้นจะมีโรค ไชนีสเรสเตอรองท์ซินโดรม ได้ยังไง (โรคแพ้ผงชูรส) ใครแพ้ผงชูรสมาก ๆ เหมือนผม กินแล้วชาคอ ชาหลัง ไม่ใส่ไม่ว่า น้ำมันหอยอย่าใส่ทำให้ดำ และไม่ได้รสชาติที่แท้จริงของพริกหวาน กับเบคอน คะเนกะพริกเขียวสุก อย่าผัดนาน พริกจะเหี่ยวไม่น่ากิน ตักขึ้นเสิร์ฟทันที กินร้อนๆ พุ้ยกับข้าวสวยแบบมียาง หอมเบคอนอร่อยจริงๆ
มีอีกหนึ่งจาน หน้าตาดูไม่น่ากิน เป็นเหมือนเนื้อไก่ดำๆ แต่ตัวเล็ก ผัดกับพริกแห้ง มันฝรั่งทอด ต้นหอม ใส่โป๊ยกั๊กด้วย สอบถามบ่าวตัวดีคนเสิร์ฟได้ความว่า เป็นเนื้อนกป่า ไม่ใช่เนื้อไก่ดำ แต่เนื้อของมันนุ่มและนิ่มจริงๆ หนังก็นุ่ม ผมชักชวนให้คนที่ไม่ลองกินเพราะเห็นเป็นสีดำลองกิน ปรากฎว่าติดใจกันเป็นทิวแถว แป๊บเดียวหมดจาน
นั่งเทียนเขียนวิธีการทำมาได้ดังนี้
ไก่ดำผัดมันฝรั่งกับโป๊ยกั๊ก
ร้อยทั้งร้อยผมว่าคงไม่มีใครหานกดำ หรือไก่ดำมาแน่ เพราะฉะนั้นเอาไก่อ่อน เนื้ออย่าหนา หรือเป็นไก่บ้าน น่าจะใช้ได้ มาสับติดกระดูกถึงจะได้อรรถรส เตรียมไว้ ต้นหอมหั่น
มันฝรั่งเลือกลูกเล็กๆ หัวแน่นๆ เนื้อจะได้มันอร่อย หั่นเป็นชิ้นย่อม ลงไปทอดน้ำมันท่วม จนเกรียมนอก นุ่มใน แยกไว้ พริกขี้หนูแห้งเม็ดยาวหั่นเอาเมล็ดออก ลงไปทอดให้กรอบ แยกไว้ ส่วนเนื้อไก่ทอดไว้พอกรอบนอก หนังรัดตึงๆ เนื้อจะได้ชุ่มใน แยกไว้ตามกัน
เอากระเทียมลงผัดกับน้ำมันเล็กน้อย ใส่โป๊ยกั๊ก (เป็นรูปดาวแปดแฉก) แล้วใส่ของที่ทอดลงตามลำดับ ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว เกลือ น้ำมันหอย (อันนี้ใส่ได้ ยังไงของแท้ เนื้อมันดำอยู่แล้ว แต่อย่าใส่มาก) พริกไทยโรย ต้นหอมใส่ ได้กลิ่นของโป๊ยกั๊กหอมอ่อนๆ ย้ำว่าต้องได้ไก่เด็กเอ๊าะๆ ไก่เหนียวหนังยานไม่เอา
ไปสิบสองปันนาเที่ยวนี้ คนอื่นเขากินไม่ได้กินไม่ลง เพราะรถกระโดกกระดอนจนคลื่นไส้ไม่ยากกิน แต่ผมถือว่าเป็นยาช่วยย่อยอย่างดี ช่วยให้กล้ามเนื้อและลำไส้ได้ขยับเขยื้อนดีกว่านั่งอยู่เฉยๆ ได้ชมวิวด้วย แต่ถ้ามีใครมาถามหรือถึงขนาดเชิญไปสิบสองปันนาอีกสักครั้งว่าจะไปไหม ก็จะตอบว่า “ไป” แต่ขอนั่งเครื่องบินไปลงเชียงรุ้งเลยนะ สบายดี