วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กินข้าวบ้านท่านทูตเปรู

ปักษ์หลัง ธันวาคม 2554

เส้นทางเศรษฐี

ยศพิชา คชาชีวะ


คงมีโอกาสน้อยครั้งนักครับ ที่ผมจะได้รับเชิญไปกินข้าวบ้านท่านทูตสักหนหนึ่ง เมื่อท่านเอคอัคราชทูตเปรู “โฆรเฆ่ กาสตาเญด้า” ส่งเทียบเชิญมาให้ไปชิมอาหารเปรูที่บ้านพักของท่านในซอยสุขุมวิท 49 จึงรีบตอบรับด้วยความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และถือโอกาสนำเรื่องอาหารเปรูมาฝากแฟนๆ ด้วย

ปกติ คนไทยรู้จักเปรูน้อยมาก รู้ว่าอยู่ทวีปอเมริกาใต้ เปิดดูแผนที่ด้านตะวันตกเปรูอยู่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิค มีแผ่นดินติดกับหลายประเทศ เช่น บราซิล ชิลี โบลีเวีย เอกวาดอร์ โคลอมเบีย ล้วนแต่ไม่ค่อยคุ้นทั้งนั้นเลย นอกจากจะได้ดูข่าวต่างประเทศบ้าง หรือดูหนังฝรั่งพวกผจญภัยที่เอาเปรูเป็นฉาก เพราะเป็นดินแดนอารยธรรมเก่า อาณาจักรอินคา มีการสร้างปิรามิดใหญ่เหมือนในอียิปต์ จนนักต่างดาวศาสตร์โมเมว่ามนุษย์ต่างดาวมาสร้างเอาไว้เหมือนกัน

การดินเนอร์บ้านท่านทูตครั้งนี้ ท่านทูตโฆรเฆ่เชิญบรรดาสถาบันสอนทำอาหารหลายแห่งให้มาร่วมชิม ที่คุ้นๆ มีอาจารย์จากพระนครใต้ ท่านคณบดีมาด้วย จากวิทยาลัยดุสิตธานี จากโรงเรียนโรงแรมของโอเรียนเต็ล จากโรงเรียนยูเอฟเอ็ม ภัตตาคารบลูอีเลแฟนท์ สื่อมวลชนจากเนชั่น และอีกหลายท่าน ขออภัยเอ่ยที่มาไม่หมด

จุดประสงค์คือท่านทูตต้องการเผยแพร่ให้คนไทยรู้จักเปรูมากขึ้น โดยเฉพาะด้านอาหารที่คนไทยหลายคนที่เคยชิมบอกว่าอร่อย ถูกปากคนไทย ก่อนหน้านี้ท่านทูตส่งตำราทำอาหารเปรูมาให้ 3 เล่ม คาดว่าคงเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนสอนทำอาหารบ้าง จะได้เผยแพร่ให้ลูกศิษย์ลูกหาต่อไป ประกอบกับการเชิญมาชิมในครั้งนี้ จะได้ซาบซึ้งยิ่งขึ้น

บรรยากาศที่บ้านท่านทูต นั่งคุยนั่งกิน กันตรงโซฟา

ระหว่างนั่งคุยรอเวลาบนโซฟาในห้องพักของท่านทูต คนที่ไปด้วยเขากระซิบถามด้วยความเป็นห่วงท้องของตัวเอง “อาหารเปรูเป็นไง กินได้หรือเปล่า” พอดีชายหนุ่มจากเนชั่นเคยไปเปรูมาแล้ว 3 ครั้ง เพราะทำเกี่ยวกับเทศกาลภาพยนตร์ไปเอาหนังเปรูมาฉายด้วย เขาบอกว่าชอบมาก อากาศดี มีฝนตกบ้าง เย็นสบายเพราะอยู่ในเขตชุ่มชื้น ถึงแม้จะอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรก็ไม่ร้อนมาก อาหารก็อร่อย เสิร์ฟกันมาชามโตๆ เช่น ซุปใส่ของทะเล ชามเดียวอิ่มเลย ค่าครองชีพสูงกว่าบ้านเรา แต่ยังนับว่าถูกเมื่อเทียบกับยุโรป หรืออเมริกา ค่าที่พักก็ถูก ผู้คนน่ารักมาก ถึงจะพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะพูดภาษาสเปน เขาบอกว่าชาตินี้ถ้าใครยังไม่เคยไปเปรู ต้องไปให้ได้ แล้วจะติดใจ แต่พอถามถึงการเดินทาง นั่งเครื่องบินไกลกว่าไปยุโรป หรืออเมริกา วันกว่าแล้วต้องต่ออีก 12 ชั่วโมง ไม่มีสายการบินไหนบินตรง ต้องไปต่อเครื่อง ค่าเครื่องบินหลายหมื่นอยู่ ผมไปเปิดดูทัวร์เปรู 10 วัน 9 หมื่นบาท เห็นทีชาตินี้จะมีบุญได้แค่ชิมอาหารเปรูอย่างเดียว

ท่านทูตโฆรเฆ่กับอาหารที่จัดเลี้ยง

เครื่องดื่มระหว่างนั่งรอเป็นน้ำข้าวโพดสีม่วงปรุงรสเปรี้ยวหวานจากสับปะรดกับมะนาวและน้ำตาล มีแอปเปิ้ลหั่นเล็กๆลอยมาด้วย เป็นเครื่องดื่มประจำชาติเปรู มีชื่อว่า “ชิชา โมราดา” ผมขอเรียกเป็นไทยๆ ว่า “น้ำชิชะ” ดูน่ารักดี ทำจากข้าวโพดสีม่วงมีชื่อเฉพาะว่า “มาอิช โมราโด” มีที่เปรูเท่านั้น ท่านทูตกรุณาเดินไปหยิบฝักข้าวโพดสีม่วงมาให้ดูจากในครัว มันแข็งมาก กัด ฟัน ไม่เข้า แทะกินไม่ได้ ชาวเปรูเอามาต้มกับน้ำ เครื่องเทศอย่างอบเชยให้ได้น้ำสีม่วงเอามาทำน้ำชิชะ และของหวานหลายชนิด ทางโภชนาการบอกว่าพฤกษเคมีสีม่วงจากพืชอย่างนี้ต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็งดีนัก น้ำชิชะรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ไม่มีกลิ่นของข้าวโพดลงเหลือ รู้สึกดีที่ได้ดื่มน้ำสีม่วงๆ เฉพาะของเปรู

เครื่องดื่มอีกอย่าง ท่านชายพลาดไม่ได้คือ “พิสโก้ ซาวร์” พิสโก้เป็นบรั่นดีเปรู ใสเหมือนน้ำ แต่ดื่มแล้วเมาหัวทิ่มบ่อได้เอาง่ายๆ ทำจากองุ่น สูตรการทำไม่ยาก ใช้เขย่าหรือปั่นก็ได้

พิสโก้ ซาวร์

พิสโก้ เปรู 3 ส่วน

น้ำมะนาวคั้น 1 ส่วน

น้ำเชื่อม 1 ส่วน

ไข่ขาวนิดหน่อย (ใส่ให้เป็นฟอง)

เหล้ารสขม อย่างแองกอสทูล่า บิตเตอร์ 2-3 หยด (ไม่ใส่ก็ได้)

น้ำแข็งทุบ

ใส่ส่วนผสมลงในโถปั่น หรือ กระบอกเชค จนเย็นดี เทใส่แก้วเล็กๆ ทรงเตี้ย ขมนิด ๆ เปรี้ยว หวาน หอมอร่อย เขาบอกว่า 3 แก้ว กำลังดี 4 แก้วกำลังครึ้ม 5 แก้วหัวทิ่ม

ผมเข้าใจว่าคงหาเหล้าพิสโก้ได้ในสโตร์ขายเหล้า ไม่มีใช้วอดก้า ตากีล่า ได้เช่นกัน แต่เหล้าโรงเห็นจะไม่ไหว

ท่านทูตโฆรเฆร่เล่าให้ฟังว่า อาหารเปรูแต่ละภูมิภาคก็แตกต่างกันไป และปัจจุบันยังผสมอาหารจากหลายเชื้อชาติ ทั้งสเปนซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมแต่ดั้งเดิม แอฟริกา จีน ญี่ปุ่น อิตาลี ชาติเหล่านี้เป็นผู้แสวงโชคมาตั้งรกรากอยู่ในเปรู จนครั้งหนึ่งประธานาธิบดีของเปรูคนหนึ่งเป็นเชื้อชาติญี่ปุ่นชื่อ อัลเบร์โต ฟูจิโมริ ในช่วงปี 2543 ประธานาธิบดีคนนี้ดังมากจากคดีความต่างๆ จนต้องบินกลับญี่ปุ่น ทำเอาคนไทยงงเป็นแถวว่าทำไมเปรูถึงมีประธานาธิบดีเป็นคนญี่ปุ่น ประธานาธิบดีของเขาทำหน้าที่เป็นผู้นำรัฐบาลด้วย ปัจจุบันเปรูทันสมัยมาก มีตึกรามบ้านช่องใหญ่โต มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ดีมาก นักลงทุนจากประเทศไทยยังไปกันน้อย ร้านอาหารไทยน่าจะยังไม่มี ใครสนใจติดต่อท่านทูตได้

ของแกล้มเหล้าพิสโก้ซาวร์ พนักงานเสิร์ฟยกมันทอดชิ้นใหญ่จิ้มกับครีมเปรี้ยวผสมผลอาโวคาโดมาให้จิ้มคนละชิ้น ท่านทูตบอกว่าเป็นมันเฉพาะเปรู คล้ายมันสำปะหลังไทย ที่เปรูอาหารแป้งหลักๆ คือ มันฝรั่ง ข้าวโพด และข้าว โดยเฉพาะข้าวโพดมีพันธุ์เฉพาะชื่อ โชโกล ขาวทั้งฝักทั้งแกน เอามาทำอาหารแป้งต่างๆ แกนก็ไม่ต้องทิ้งนำมาบดทำแป้งได้ เหลือแต่เปลือกที่กินไม่ได้

มันฝรั่งของเปรูมีมากถึง 2000 สายพันธุ์ เล่นเอากินไม่ถูก บางพันธุ์มีสีม่วง ดำ เหลือง ทำอาหารได้หลายชนิด

แถบชายทะเล อาหารขึ้นชื่อย่อมเป็นของทะเล ผสมผสานกับสไตล์อาหารแอฟริกัน อิตาลี จีน ญี่ปุ่น ซึ่งมาตั้งรกรากกันมากแถบชายทะเล จึงมีอาหารที่ปรุงแบบแอฟริกัน มีสปเกตตี้แบบอิตาลีแต่ใส่ซอสของเปรู มีอาหารญี่ปุ่นผสมเปรูได้ชื่อพันธุ์ใหม่ว่า “นิคเคอิ” แถบเทือกเขาอินดีสจะเป็นอาหารพื้นเมือง หนูตะเภาย่าง เป็นสุดยอดที่ทุกคนต้องไปชิม หนูตะเภาน่ารัก ที่เอามาทดลองในห้องแล็ปนั่นแหละครับ รวมไปถึง แพะ แกะ ไก่ และอูฐพื้นเมือง “อัลปาก้า” เอาเนื้อมาทำเนื้อเค็มชั้นยอด แถบที่ติดลุ่มน้ำอเมซอนก็จะกินพืชและสัตว์ป่า

ในเมืองหลวง “ลิมา” เป็นแหล่งรวมอาหารชั้นยอดจากทุกทิศ ที่ขึ้นชื่อมากคือ “เซบิเช่” ยำเนื้อปลา เป็นอาหารจากชายฝั่งทะเล ท่านทูตจัดใส่เป็นอาหารจานแรกมาให้ชิมด้วย ในถ้วยเล็กๆ วันนั้นการจัดเลี้ยงเป็นกึ่งบุฟเฟ่ท์ช่วยตัวเองเล็กๆ พนักงานยกอาหารแต่ละชุดมาเรียงบนโต๊ะยาว จัดใส่ถ้วยเล็กๆ บนถาดขาว เริ่มต้นด้วยอาหารเรียกน้ำย่อย ตามด้วยซุป อาหารจานหลัก และของหวาน แต่ละชุดมี 3-4 ถ้วย ทำให้มีโอกาสได้ชิมอาหารถึงกว่า 15 อย่าง จากหิวก็เป็นอิ่มตื้อไปได้ง่ายๆ ท่านทูตลงทุนเป็นพนักงานเสิร์ฟด้วยตัวเอง ประทับใจจริงๆ ครับ

มาว่ากันถึง เซบิเช่ จานนี้ถูกปากทุกคน เพราะเป็นยำเปรี้ยวๆ รสชาติคล้ายอาหารไทย ใส่หอมสีแดง ๆ จะว่าไปเหมือนพล่าปลาแถวจันทบุรี ทำให้เนื้อสุกด้วยน้ำมะนาว (ขอกระซิบนิดว่า เนื้อปลาไม่ได้สุกง่ายๆ เพราะน้ำมะนาวนะครับ แค่สีเปลี่ยน)

ยำปลาดอง “เซบิเช่”

เซบิเช่

เนื้อปลาขาวสดหั่นเป็นชิ้นละครึ่งนิ้ว แล้วบีบมะนาวลงไปเคล้า ใส่กระเทียมบด เกลือ พริกไทยโรยๆ หมักไว้ครึ่งชั่วโมงในตู้เย็น เอาออกมาใส่หอมหัวใหญ่สีม่วง คล้ายหอมแดงลูกใหญ่บ้านเรา หั่นเป็นแว่น พริกหวาน พริกหยวกหั่นสี่เหลี่ยมนิดนึง ผักชีเด็ดใบ หมักไว้อีกหนึ่งชั่วโมง อย่าลืมเอาเข้าตู้เย็น อากาศร้อนอย่างบ้านเราเน่าแน่

พอครบเวลาจัดเสิร์ฟกับผักกาดหอม ข้าวโพดหวานต้มตัดเป็นท่อนสองชิ้น มันฝรั่งต้มหั่นเป็นชิ้นเล็กน้อย

เขาบอกว่าตรงกลางโต๊ะเสิร์ฟให้ผ่ามะนาวครึ่งหนึ่งวางไว้ด้วย เผื่อใครชอบเปรี้ยวจะได้บีบใส่ได้อีก

วิธีทำไม่ยักกะเหมือนพล่าปลาแบบไทย ของเราใช้น้ำมะนาวขยำๆ กับเนื้อปลาสับจนซีดเป็นสีขาว ถึงใส่ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง น้ำมะนาว น้ำปลา พริกขี้หนู ของเปรูน่าจะเรียก “ยำปลาดองเปรู”

ซุปกุ้ง คล้ายๆกับซุปซีฟู้ด

จบจากถาดยั่วน้ำย่อยนั่งคุบกันอีกสักครู่ ท่านทูตเชิญให้รับถาดที่สองเป็นพวกซุป ที่ขึ้นชื่อมากคือ “ปาริเวล่า” หรือ ซุปซีฟู้ด ต้องมีเนื้อซีฟู้ดดีๆ หลายชนิด ทั้งเนื้อปลากะพง เนื้อกุ้ง หอยเชลล์ หอยแมลงภู่ ปลาหมึกหั่นแว่น และสำคัญที่การทำน้ำสต๊อคปลาจากกระดูกปลา แค่ทำไม่ให้คาวก็ยากแล้ว

แรกเริ่มนั้นเขาจะเอากระทะขนาดใหญ่ตั้งไฟ เจียวกระเทียมจนหอม ใส่มะเขือเทศสับ และน้ำพริกเปรู ซึ่งทำจากพริกแดง และพริกเหลืองของเปรู ใบกระวาน ออริกาโน เกลือ พริกไทย ค่อยใส่ไวน์ขาว เคี่ยวจนข้น ถึงใส่น้ำสต๊อคปลา และของซีฟู้ด เติมเกลือ บีบน้ำมนาว หยดเหล้าพิสโก้ เขาเสิร์ฟมาให้ถ้วยเล็กๆ จนต้องขอกันอีกคนละถ้วย รสชาติมีเปรี้ยวมะเขือเทศ หอมน้ำพริก สีสันก็เหลืองๆ คล้ายแกงส้ม แต่ไม่ได้เปรี้ยวขาดแบบของเรา ของเขาซดได้เรื่อยๆ มีเผ็ดเล็กน้อย

ข้าวอบหอยแมลงภู่

ข้าวอบปลาหมึก

ถาดหลักเป็นข้าวสองสามอย่าง เขาเอาข้าวไทยมาหุง ไม่ได้ใช้ข้าวเปรู เพราะอยู่เมืองไทย แต่หุงแบบข้าวสวยๆ เป็นเม็ด และเคาะป๊อกออกมาเป็นถ้วย มีเสิร์ฟกับเนื้ออบ และอย่างอื่น จำไม่ได้แล้วกินแล้วลืม เปิดตำราดูมีข้าวอบทะเล ข้าวอบหอยแลงภู่ ข้าวอบกุ้งและหอยแครง ข้าวอบปลาหมึก อันนี้ข้าวดำปี๋เพราะใช้หมึกจากตัวหมึกมาใส่ด้วย เหมือนเส้นพาสต้าของอิตาเลี่ยนที่ใส่หมึกของปลาหมึกเช่นกัน คงเป็นอิทธิพลอย่างหนึ่งของอิตาเลี่ยนต่ออาหารเปรู ข้าว “ปาเอย่า” หรือข้าวผัดสเปนใส่ของทะเลเยอะแยะ และหญ้าฝรั่นสีเหลืองๆ บอกแล้วว่าชาวเปรูชอบของทะเลมากเพราะอยู่ติดทะเล

อาหารเกือบทุกชนิดจะใส่เครื่องเทศต่างๆ โดยเฉพาะน้ำพริกแกง ใช้พริกแดง พริกเหลืองมาปั่น ใส่กระเทียม ใส่ผักชีบด รสชาติต่างๆ จึงค่อนข้างถูกใจคนไทย กินได้เรื่อยๆ ไม่เลี่ยนอุดมด้วยนมเนยแบบยุโรป และเน้นอาหารทะเล ไม่หนักเนื้อแบบอเมริกัน

พุดดิ้งข้าวโพดสีม่วง

สุดท้ายต่อด้วยถาดของหวาน ถึงถาดนี้จำไม่ได้แล้วว่ามีอะไรมั่ง ของก่อนหน้านี้ มันอิ่มอร่อยไปถึงสมองแล้ว เปิดดูตำราของหวานเปรูที่ท่านทูตส่งมาให้ มีพุดดิ้งข้าวโพดเปรูสีม่วง ทำด้วยความยุ่งยากมาก ต้องเอาข้าวโพดม่วงมาต้มกับน้ำ ใส่สับปะรด ใส่ผลไม้ต่างๆ เช่น แอปเปิ้ล ต้มต่อจนนุ่ม แล้วเอาไปกรอง เอาไปผสมกับแป้งข้าวโพด เติมน้ำตาล ใส่สับปะรด แอปเปิ้ลอีกที ตั้งไฟต่อ เติมน้ำมะนาว รอเย็น ค่อยเอาเข้าตู้เย็น เสิร์ฟเย็น รู้สึกว่าผมจะได้กิน เปรี้ยวๆ หวานๆ นิ่มๆ เย็นๆ ดี

นับว่าเป็นความกรุณาของท่านเอคอัครราชทูตเปรู โฆรเฆ่ กาสตาเญด้า เป็นอย่างสูง ที่ได้เชิญพวกเราไปกินข้าวในวันนั้น ผมเองก็นั่งคิดนอนคิดอยู่ว่า ทำยังไงถึงจะช่วยท่านทูตเผยแพร่อาหารเปรูได้ แต่ค่อนข้างยาก เพราะคนไทยยังไม่รู้จักอาหารเปรู หาชิมไม่ได้ มีขายตามโรงแรมและร้านบางแห่งเท่านั้น ผมได้แต่แหยมๆ ผู้ช่วยของท่านทูตไปว่า น่าจะจัดชั้นเรียนทำอาหารเปรูให้บรรดาครูสอนทำอาหาร จะได้ฝึกฝนรู้เคล็ดลับทำอาหารเปรูเป็น และเอาไปเผยแพร่ให้ลูกศิษย์ลูกหาต่อไป รวมทั้งเอามาฝากท่านผู้อ่านเส้นทางเศรษฐีด้วยยังไงครับ


วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ซี่โครงเซินเจิ้น


ยศพิชา คชาชีวะ

เส้นทางเศรษฐี ปักษ์แรก ตุลาคม 2554


ปกติคนไทยไปเซินเจิ้นเมืองคู่แฝดของฮ่องกงด้วยความเป็นของแถม เที่ยวฮ่องกง รวมมาเก๊า เซินเจิ้น เข้าไว้ด้วยกัน ช้อปปิ้งอย่างละหน่อย ที่เซินเจิ้นก็ไปเหยียบห้างดังหล่อหวู่ ขึ้นเรือจากฮ่องกงมาก็เจอเลย เขาว่ากันว่าเหมือนมาบุญครองบ้านเรา แต่ต้องต่อราคา 50-60% คนขายพูดอังกฤษ พูดไทยได้บ้างบางร้าน และถ้าอาหมวย อาตี๋เสียงดังล้งเล้ง สูบบุหรี่แบบเผื่อแผ่มะเร็งปอด ก็กลั้นๆ ใจไว้ ของเป้าหมายห้างนี้คือ แบรนด์เนมก๊อป มีหลายเกรด ต่อดีๆ ตาดีๆ ก็ได้ของดีเอาไปแจกเพื่อนฝูงที่ราคาถูกกว่าซื้อของก๊อปในเมืองไทย 1 หยวนตอนนี้ประมาณ 5 บาทครับ

คณะผมมีกัน 4 คน มุ่งตรงเซินเจิ้นอย่างเดียว เพราะทุรนทุรายซื้อตั๋วเครื่องบินแบบถูกบินตรง จองโรงแรมเองเอากลางดงช้อปปิ้งอีกแห่ง ตงเหมิน ภาษาอังกฤษสะกดว่า Dong Men แล้วแต่จะอ่านแล้วกัน

เซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจที่ “เติ้ง เสี่ยว ผิง” หมายมั่นปั้นมือให้เกิดคู่กับฮ่องกง จากเมืองชาวประมง กลายเป็นเมืองท่า ศูนย์กลางทางอากาศ ทางรถยนต์ รถไฟ มีเศรษฐกิจในลักษณะทุนนิยมที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมูนิสต์ และประสบความสำเร็จซะด้วย มีตึกสูงใหญ่ขึ้นชุกชุมพอๆ กับฮ่องกง คนของเขาเยอะจริงๆครับ แทบจะเดินชนกัน รถไฟใต้ดินวิ่งตัดกันโชะเชะให้พล่านไปหมด ดีเหมือนกันไปมุมไหนของเมืองใช้มุดใต้ดินเอา แล้วเดิน ผู้คนหนุ่มสาวแต่งตัวยังสู้คนฮ่องกงไม่ได้ แต่ก็ทันสมัยพอๆ กับไทย ที่ไม่เหมือนเลยคือภาษาครับ

ห้างหลอหวู่

ออกจากตึกหลอหวู่แล้วไปที่อื่นอย่างตงเหมิน ลงรถไฟห่างกันสองสามสถานี ไม่มีผู้คนพูดภาษาอังกฤษแล้ว แม้แต่เด็กหนุ่มเด็กสาวก็พูดแทบไม่ได้เลย ตามห้างพนักงานต้อนรับพูดได้นิดหน่อย พูดภาษาจีนกันอย่างเดียว ผมไปนั่งสั่งกาแฟในร้านแฮมเบอร์เกอร์ยี่ห้อระดับอินเตอร์ ในห้างทันสมัยแห่งหนึ่ง พยายามสั่ง Hot Coffee อาหมวยเธอเอาแต่ตอบภาษาจีน และส่งเสียงว่า โกปี๊ๆ เออ...โกปี๊ ก็ โกปี๊ ผลสุดท้ายได้กาแฟเย็นไม่ใส่น้ำแข็ง เฮ้อ..ขนาดตอนสั่ง ผมชี้ไปที่รูปกาแฟร้อน แล้วแลบลิ้นห้อยๆ เอามือโบกว่า ร้อนๆ แล้วนะ เธอก็ไม่พยายามเข้าใจเลย คิดแล้วอนาถตัวเองจริงๆ

เข้าใจว่าอีกประมาณ 2-3 ปี หนุ่มสาวที่เซินเจิ้นคงสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นกว่านี้ ผมเห็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษรณรงค์แจกใบปลิวอยู่ ทางการก็ส่งเสริมให้คนจีนเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อพัฒนาตนเอง และเสริมรายได้ขึ้น

ย่านตงเหมิน

ย่านตงเหมินเป็นเหมือนสยามสแควร์ แต่เดินสบายกว่า มีลานกว้าง ร้านรวงเป็นร้านๆ ขายพวกของแฟชั่น และแบรนด์เนมก๊อป พวกที่ไปด้วยกันหอบกระเป๋าแฟชั่นกลับไปหลายโหล ที่ดีอีกอย่างคือเขามีตำรวจตระเวณตลอด ไม่มีหาบเร่ จะมีคนขายผลไม้หอบลังโฟมมาตั้งบ้าง ก็ประเดี๋ยวประด๋าว เพราะโดนไล่ที่ ผลไม้เขาขายเข้าที เสียบแคนตาลูปฝานเป็นไม้ๆ หรือเสียบลูกไหนสามลูก (ลูกไหนคือลูกพรุนสด) มะม่วงเหลืองๆ หนุ่มสาวเซินเจิ้นชอบมาก

เรื่องชอบเอาไม้เสียบนี่ ผมไปเจอเขาขายอาหารประเภทหม้อร้อนคล้ายสุกี้ของเรา ในฟู้ดเซ็นเตอร์แห่งหนึ่ง เขาบรรจงเสียบผักกาดเป็นใบๆ ผักบุ้งเป็นท่อน เสียบลูกชิ้น เสียบปลาหมึก มีอะไรพวกเสียบไม้หมดทุกอย่าง แล้ววางให้ลูกค้าเลือกเป็นพวกๆ เลือกได้กี่ไม้ๆ ส่งให้คนทำหลังเคาน์เตอร์เอาไปลวกในน้ำ แล้วตักน้ำซุปใส่ชามมา ไปนั่งกิน ราคาคิดตามจำนวนไม้เป็นผักหรือเนื้อสัตว์ครับ

ด้วยความที่เซินเจิ้นมีคนมากประมาณ 20 ล้านคน มีรายได้ต่อหัวสูงถึงอันดับ 4 ของประเทศ ในเมืองยิ่งหนาแน่น จึงแย่งกันกินแย่งกันใช้ ค่าครองชีพก็สูง อาหารจานด่วนธรรมดาๆ อย่างข้าวหน้าแกงกะหรี่ ราคาจานละ 20 หยวน หรือ 100 กว่าบาท คนที่ไปด้วยเขาสั่งข้าวหมูเกาหลี ได้ข้าวสวย หมูชุบแป้งทอดชิ้นไม่ใหญ่ ไข่ดาวอีกสองฟอง เกือบ 200 บาท โอ้...อุแม่เจ้า ขอกลับไปกินข้าวไข่ดาวที่บ้านโดยด่วน

ระบบร้านอาหารจานด่วนของเขาน่าสนใจ เหมาะสำหรับการรับลูกค้าจำนวนมาก โดยการจำกัดอาหารไว้ไม่กี่อย่าง เช่น ข้าวเกาหลี ข้าวแบบญี่ปุ่น สปาเกตตี้ ฯ พร้อมเครื่องดื่ม ทำรูปติดไว้ เมื่อลูกค้ามามากๆ ก็เข้าคิวจ่ายตังค์ ผมใช้ชี้ๆ รูปเอา เพราะยังไงพูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วนำบิลล์ไปรับเครื่องดื่มตรงเคาน์เตอร์อีกที่หนึ่ง พร้อมกับถาด แล้วเลื่อนตามคนหน้าไปเรื่อยๆ กุ๊กข้างในหลายคนทำตามออเดอร์ไล่ไป อาหารใช้ตักโน่น ตักนี่ใส่ข้าว ราดน้ำซอสหน่อย จึงเสร็จเร็ว ไม่ต้องรอนาน ทุกอย่างทำไว้แล้ว อาหารได้ครบตามต้องการไม่ผิดเพี้ยน

อีกร้านหนึ่งเป็นร้านอาหารจีนที่มีหลายสาขาในเซินเจิ้น เป็นร้านขนาดใหญ่ มีโต๊ะเกิน 20 โต๊ะ แรกเข้าไปงงๆ เหมือนกันว่าจะสั่งอาหารอย่างไร พอนั่งลงที่โต๊ะ บริกรหมวยยกจาน พร้อมตะเกียบในซองกระดาษมาตั้งให้ และใบสั่งอาหาร น้ำชาร้อนๆ ในกา และถ้วยชาเล็กๆ แถมด้วยชามสเตนเลสอีกหนึ่งใบ พวกเรามองหน้ากันว่าเจ้าชามนี้เอามาทำอะไร น่าจะให้เอามาใส่ขยะ เราเลยใส่ขยะโน่นนี่ เกือบทุกร้านบริการให้แบบนี้ ตอนหลังถึงรู้ว่า คนเซินเจิ้นเขาเอาน้ำชาร้อนๆลวกช้อนกับตะเกียบใส่ในอ่างใบนี้ เดี๋ยวบริกรถึงจะมาเก็บไป

ครั้งหนึ่งผมไปฮ่องกง ทุกร้านจะยกแก้วชาแบบแก้วเหล้าให้หนึ่งแก้ว คนไทยยกซดกันเฉย แต่พอเหลียวมองโต๊ะคนจีนข้างๆ เขาเอาตะเกียบลงไปแช่ฆ่าเชื้อแหะ ช่างสะอาดกันดีจริงๆ

ผัดบรอคโคลี่

กลับไปที่ร้านในเซินเจิ้น วิธีสั่งอาหารเขาคือนำใบสั่งอาหารนั้นเดินไปที่เคาน์เตอร์อาหารในร้าน ตรงนั้นจะมีอาหารวางเรียงรายกันอยู่ในตู้กระจก เริ่มจากด้านซ้าย มีข้าวต้มขาว ข้าวต้มผสมถั่วเขียว อร่อยดี ข้าวต้มผสมลูกเดือยออกรสหวานปะแล่ม ข้าวต้มฟักทอง แล้วก็เป็นพวกซาลาเปา หมั่นโถว เสี่ยวหลงเปา ถัดมาเป็นอาหารพวกโรตี แป้งนึ่ง ทอด ใส่ไส้กุยช่าย หรือ โรยต้นหอม ต่อมาเป็นพวกอาหารก๋วยเตี๋ยวน้ำ ชี้เครื่องใส่ได้ตามชอบ ล็อกสุดท้ายเป็นอาหารจานเล็กๆ บรอคโคลี่ผัดดอกโตสีเขียวน่ากินมาก วิธีผัดง่ายๆ ใช้ลวกน้ำผสมเกลือให้เขียวสด ร้านอาหารจีนนิยมใช้โซดาไบคาร์บอเนตหรือผงฟูทำขนมอบ โปรยใส่น้ำเดือด แล้วหย่อนบรอคโคลี่ลงไป ต้มพอเขียวดี ตักขึ้นแล้วผ่านน้ำเย็น จะเขียวสวยอยู่อย่างนั้น ผัดบรอคโคลี่ของเขาไม่มีรสชาติอะไรมาก ผสมซีอิ๊วนิดหน่อยเอง แต่เคี้ยวเพลินดี

ผัดเส้นบุกกับสาหร่าย

ยังมีถั่วงอกผัด ผักบุ้งผัด เส้นบุกยาวๆผัดกับสาหร่ายสีเขียวยาวกรุบๆ แครอทอีกหน่อย กุ๊กของเขาผัดอยู่หลังเคาน์เตอร์ ลงกระทะใหญ่ทีเดียว ใส่น้ำมัน ใส่ผัก เครื่องปรุงคงจะหนีไม่พ้นซีอิ๊ว น้ำมันงา รอผักสลดดีตักใส่ถาดรอคนตักแจกจ่าย อาหารผัดแต่ละอย่างน้ำมันค่อนข้างมากตามสไตล์อาหารจีน กินแล้วเดินขึ้นลงรถไฟฟ้าพอขจัดไขมันไหวครับ

ข้างหลังด้านบนเขาจะติดรูปอาหารโชว์ไว้ด้วย แต่เราใช้วิธีชี้ๆ อาหารในตู้กระจก พร้อมยื่นใบสั่งอาหารให้เขาปั๊มตรายางตรงชื่ออาหารนั้นเป็นเรียบร้อย เรารอเขาตักอาหารแป๊บเดียว เอาใส่ถาดถือกลับโต๊ะได้เลย

ซี่โครงเซินเจิ้น

อาหารจานหนึ่งที่คนในคณะติดใจ และเป็นที่มาของชื่อเรื่องตอนนี้คือ ซี่โครงเซินเจิ้น เป็นกระดูกติดเนื้อต้มจนเปื่อย แทะมันมาก ที่จริงมันชื่ออะไรก็ไม่รู้ และไม่ใช่ซี่โครง แต่เป็น “เอียเล้ง!”

ไม่ผิดครับ เอียเล้งหรือกระดูกสันหลังหมู มีเนื้อติดอยู่ตามซอก คนจีนสอนให้ไทยเอามาต้มน้ำซุปทำน้ำก๋วยเตี๋ยว หวานอร่อยนัก อยู่เมืองไทยเรามักจะได้แทะเอียเล้งต่อเมื่อร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าประจำ ตักเอียเล้งมาให้แทะด้วย

เอียเล้งมีขายเป็นกิโล ตามตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต โลหนึ่ง 50-60 บาท ต้มน้ำซุปได้หม้อใหญ่ โดยผสมพริกไทยเม็ด รากผักชี (รสแบบไทยๆ จีนไม่ใส่) กระเทียม น้ำตาลกรวด อาจจะเพิ่มหัวไชเท้า ต้นหอมมัดทั้งกำ หอมใหญ่ ก่อนต้มล้างน้ำเอียเล้งเที่ยวนึง ใส่ลงหม้อ ต้มไฟแรงก่อน พอเดือด หรี่ไฟ แล้วคอยช้อนฟองทิ้ง อย่างนี้จะได้น้ำซุปใส ไม่ขุ่น กระดูกหมูอีกอย่างที่เอามาต้มน้ำซุปคือ คาตั้ง หรือกระดูกท่อนขาหมู ต้องเอามาล้างสะอาด ทุบให้แตก แล้วต้มพร้อมกับน้ำเย็น บางรายว่าต้องต้มน้ำเดือดก่อน ค่อยหย่อนคาตั้ง

ทุกโต๊ะที่ร้านนี้ต้องสั่งซี่โครงเซินเจิ้น บางรายสั่งข้าวหนึ่งถ้วย และซี่โครงแค่นั้น อย่างอื่นไม่เอา นั่งแทะพุ้ยข้าวอย่างเมามัน คนจีนที่นี่ดีอย่าง ไม่ว่าจะเดินกิน หรือกินในร้านอาหาร เขาแจกถุงมือพลาสติคให้ข้างหนึ่ง เอาไว้ใส่มือซ้ายหยิบจับอาหารโดยไม่ต้องล้างมือ และเลอะมือ นับว่าเป็นเรื่องอนามัยที่เราควรเอาอย่าง

เอียเล้งต้มเปื่อยนี้เขาเสิร์ฟมาแห้งๆ ต้องสะเด็ดน้ำให้ดีก่อนเสิร์ฟ เห็นเขาตักขึ้นมาจากหม้อรออยู่ในตะแกรง บางอันก็แทะง่ายเปื่อยดี บางอันต้องเอาตะเกียบแคะ โดยเฉพาะเนื้อไขข้างในโพรง ผสมเลือดผสมไขอร่อยเขาล่ะ

ผมนั่งวิเคราะห์แล้วว่าเอียเล้งตุ๋นนี้น่าจะต้องหมักก่อนแล้วมาตุ๋นจนเปื่อย

เมื่อกลับมากรุงเทพ คู่หูที่ไปด้วยกันไม่รอช้า ไปซื้อเอียเล้งมา 1 กิโล เลือกที่เนื้อติดเยอะๆ เอามาหมักซีอิ๊วดำเค็ม ซีอิ๊วขาวอย่างดีหอมๆ เหล้าจีน (ฉลากสีฟ้าๆ) น้ำมันงา พริกไทย เกลือนิดหน่อย และผงพะโล้สำเร็จรูป หมักไว้ประมาณครึ่งวันนอกตู้เย็น แล้วก็ใส่น้ำต้ม เติมซีอิ๊วอีกนิดหน่อยให้ดำๆ เข้าไว้ หย่อนอบเชยลงไป 1 แท่ง โป๊ยกั๊กอีก 2-3 ดอก เดือดแล้วเปิดไฟรุมๆ ต้มไปอีกชั่วโมงกว่า

ผลสำเร็จ ตักขึ้นมาสะเด็ดน้ำให้ดี จัดใส่จานเหมือนซี่โครงเซินเจิ้นเปี๊ยบ เอาไปให้คนในคณะที่ไปด้วยชิม เออ..บอกว่าคล้ายๆ ใช้ได้ คนที่ไม่ได้ไปด้วยขอชิม บอกแทะลำบากจังพี่ ขอเป็นซี่โครงหมูแทนไม่ได้เหรอ แต่ทุกคนชมเหมือนกันว่าหอม รสชาติดี เค็มหน่อยๆ เปื่อยกำลังดี

อย่างนี้น่าเอาไปทำขายครับ ดัดแปลงเป็นซี่โครงอ่อนหรือซี่โครงแก่ผมก็ว่าแทะมันดี แต่เป็นเอียเล้งต้นตำรับนี่แหละดี กระดูกทิ่มจมูกทิ่มแก้มดี และได้แคะกันสนุกสนาน สูตรนี้ไม่หวงลิขสิทธิ์ เพราะผมก็ก๊อปเขามา แบบเดียวกับเซินเจิ้นก๊อปของแบรนด์เนมล่ะครับ



หนีน้ำ กินข้าวแห้ง

หนีน้ำกินข้าวแห้ง
บทความลงในเส้นทางเศรษฐี ปักษ์แรก ธันวาคม 2554

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ผมอินเทรนด์หนีน้ำกับเขาเหมือนกัน เพราะบ้านอยู่แถวรัชดาลาดพร้าว กลัวรถจมน้ำ เลยหนีไปอยู่บ้านญาติที่ราชบุรีกว่าสองอาทิตย์ ทำให้มีเวลาซอกซอนราชบุรีได้เกือบทุกซอกทุกมุม จนไม่เหลืออะไรจะเที่ยวแล้ว

ตลาดโค้ยกี่

ใครไปราชบุรีต้องไปเดินเล่นตลาดโค้ยกี่ หรือตลาดริมน้ำกลางเมือง เป็นจุดหลักของที่นี่ เสาร์อาทิตย์มีตลาดนัด ของกิน เสื้อผ้า โอ่งที่ระลึก ให้พอเดินเล่นได้สนุกๆ ช่วงเทศกาลยิ่งมีของขายเยอะใหญ่ ร้านกาแฟขึ้นชื่อคือ อาตี๋โกปี๊ อยู่ริมน้ำ จัดร้านแบบโบราณๆ มีกาแฟโบราณ และ กาแฟชงแบบเวียดนาม ใช้ถ้วยหยดกาแฟทีละหยด กาแฟใช้ได้เข้มและหอมดี ของเด่นอีกอย่างคือเค้กโอ่ง เป็นเค้กใส่ในแป้งเปลือกพายเป็นรูปโอ่ง เข้าใจคิดดี

ติดๆ กันเป็นร้านกาแฟทันสมัย ติดแอร์ ขายคัพเค้ก คนเยอะพอกัน

ร้านกาแฟอีกร้านชื่อ ดีคุ้นสท์ (d Kunst) อยู่แถวริมน้ำเช่นกัน ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ราชบุรี ชื่อแปลกๆ อย่างนี้เขาบอกมาจากภาษาเยอรมันแปลว่า ศิลปะ เพราะที่นี่เดิมเป็นบ้านไม้เก่า ของร้านทำโอ่ง เถ้าฮงไถ่ ลูกหลานมาดัดแปลง และได้ศิลปินหลายคนมาช่วย ทำผลิตภัณฑ์โอ่ง ถ้วยชามหน้าตา ดีไซน์แปลกๆ ออกมา จนกลายเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของราชบุรี ใครอยากได้ตุ๊กตาตัวโตๆ แจกันยักษ์ไปตั้งในสวนต้องมาหาที่นี่ โรงงานเขาออกไปตรงทางเข้าเมืองนิดเดียวเอง วัยรุ่นชอบไปตั้งท่าถ่ายรูป เพราะมีสนามลานศิลปะประหลาดดี กาแฟเขาใส่ในถ้วยแบบกินชา เลยไม่คุ้น และค่อนข้างอ่อน เหมาะสำหรับคอกาแฟอ่อนๆ

จากโค้ยกี่ มาตรงข้ามโรงแรมนำสิน มีร้านกาแฟโอ่งมังกร ผมได้ “น้องจี” จีพีเอสในรถช่วยนำทาง โดยไม่ต้องถามใคร แต่ถ้าเลี้ยวผิดน้องจีมักจะพาอ้อมบ่อยๆ ทั้งที่ตรงไปก็ถึงแล้ว ร้านนี้นึกว่าจะได้กินกาแฟในโอ่ง เขากลับเสิร์ฟในถ้วยแก้วปกติ เป็นกาแฟแบบไทยๆ รสเข้มมาก เหมาะกับการมานั่ง “ชิว ชิว” ในห้องแอร์ หรือนอกห้องแอร์ มีไวไฟให้เล่นอินเตอร์เนทฟรี ร้านกาแฟในราชบุรีมีอยู่เต็มเมือง ทุกร้านมีไวไฟให้เล่นฟรีหมด

อีกร้านหนึ่งชื่อ “สะภากาแฟ” เขาเขียนอย่างนี้ อยู่ถนนริมทางรถไฟ อันนี้ไม่ได้นั่ง แค่ผ่าน เห็นเป็นร้านกาแฟในสวน ร่มรื่นดี

เข้าไปในเมืองต้องไปกิน บะหมี่ก๋ำเช้ง แถวสถานีตำรวจ เส้นเขาทำเองไม่เหมือนใครกรุบๆ เด้งๆ ไม่เคยกินที่ไหนมาก่อน ใครฟันไม่ดีเคี้ยวไม่ขาด แต่อร่อย ใส่กับน้ำหมูแดงหวานหั่นชิ้นหนาๆ สั่งบะหมี่เกี๊ยวได้ปูโรยหน้า สั่งพิเศษมีหมูสับก้อนโตลอยเป็นแพมาให้ข้างบนด้วย ร้านนี้ขายตั้งแต่เป็นรถเข็น ตั้งแต่ชามละ 1 บาท จนถึง 15 บาท เขาเอาหมูแดงไว้บนหลังคารถ จนคนตั้งชื่อให้ว่าหมูหลังคา ตอนนี้อยู่ในห้องแถว ขายชามละ 30 บาท พิเศษ 50 บาท เสาร์อาทิตย์มีบะหมี่เส้นใหญ่ อร่อยไปอีกแบบ เปิดตั้งแต่เช้าถึงบ่ายสอง หาที่จอดรถแถวตลาดโค้ยกี่นั่นแหละครับ เดินเอา

อาหารเจ้าอื่นๆที่ขึ้นชื่อ ผมไปตระเวณกินมาหมด แต่ไม่ติดใจเลยขอข้าม ออกนอกเมืองเลยดีกว่า

มาราชบุรีต้องไปสวนผึ้ง ออกจากเมืองไป 60 กิโล ผมเคยไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ร้อนมาก มาตอนนี้ รีสอร์ทและสถานที่ท่องเที่ยวผุดขึ้นมา เขาบอกเหมือนที่ปาย หรือ วังน้ำเขียว หน้าเที่ยวเหมาะๆ ก็ปลายปีกับต้นปี อากาศเย็นกำลังดี

ทางไปแวะแห่งแรกคือ บ้านหอมเทียน เขามีเทียนเป็นถ้วย เทียนรูปแกะ และอีกหลายๆ เทียนแปลกๆ ค่าชม 25 บาท มีห้องแสดงศิลปะ ห้องเทียน ถ่ายรูปสวยครับ

ซีนนารี วินเทจ สวนผึ้ง

สถานท่องเที่ยวขึ้นชื่ออีกแบบ คือไปเลี้ยงแกะ มีอยู่หลายแห่ง เจ้าใหญ่ชื่อ ซีนนารี่ วินเทจ ฟาร์ม ต้องไปเสียค่าหญ้าให้น้องแกะเพื่อจะถ่ายรูป แกะที่นี่เป็นพันธุ์ผสมระหว่าง ขน กับ เนื้อ เพื่อให้ทนอากาศร้อนบ้านเราได้ มีชื่อพันธุ์ว่า คาทาดิน อาหารคือ ใบปอกะสา กับหญ้าเนเปีย แกะเด็กๆ กินนม ที่นี่วิวสวย นั่งจิบกาแฟชมวิวเห็นฟาร์มแกะ และภูเขาลูกใหญ่ สบายอารมณ์ เสียแต่ตอนที่ไปแมลงหวี่กับแมลงวันเยอะจริงๆ จนมือไปเป็นสุขไปด้วย

รีสอร์ทอื่นๆ เขาก็มีเลี้ยงแกะ แล้วแต่คนแวะ ร้านกาแฟสวยๆ ถ่ายรูปเห็นหุบเขา แบบเดียวกับที่ปาย และวังน้ำเขียว

ธารน้ำร้อนบ่อคลึงเป็นอีกที่ที่ต้องแวะ แม้ว่าจะไม่สวยเท่าออนเซ็นของญี่ปุ่น เห็นแต่เด็กๆ เล่นน้ำอุ่นไม่ถึง 50 องศาเซลเซียส ในสระ เสียค่าลงสระด้วย ใครไม่อยากเสียตังค์เอาเท้าไปแช่น้ำที่ปลายสระได้ หรือเดินขึ้นไปดูต้นกำเนิดธารน้ำร้อนจากใต้ดิน ออกมาจากใต้หิน พอเอามือแหย่ๆ เล่นได้ ตรงนี้อุณหภูมิสูง 56 องศาเซลเซียส

ผมไปกินข้าวที่ครัวม่อนไข่ ตามหนังสือแนะนำ ใช้ได้ มียำผักกูด คือ เฟิร์นชนิดหนึ่งชอบขึ้นแถวน้ำตก ภาคใต้เยอะมาก แล้วก็ปีกไก่ทอดเกลือ ทอดได้เก่ง แห้ง กรอบนอก นุ่มใน ที่หน้าร้านมีเด็กนักเรียนทำตัวเป็นกระปี๋รถเมล์แจกตั๋วให้ไปชมสินค้าบนรถเมล์ชื่อแล่นฉิว มีเสื้อผ้า ผ้าขะม้าตัดเป็นกางเกง และของที่ระลึกต่างๆ ซื้ออุดหนุนเขาได้

แหล่งท่องเที่ยวในสวนผึ้งยังมีอีกหลายแห่ง เช่น ศาลเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ โป่งยุบคล้ายๆ แพะเมืองผี น้ำตกเก้าชั้น เขากระโจม แต่สมาชิกที่หนีน้ำมาด้วยกัน ลงความเห็นว่าไม่ไป เพราะกลัวแดด เดี๋ยวผิวเสีย และไม่มีของช้อปปิ้ง

อีกวันออกจากสวนผึ้งไปโพธาราม อ่านในหนังสือนำเที่ยว มีตลาดเก่าโพธาราม กับ ตลาดเจ็ดเสมียน ไม่ไกลจากตัวเมืองราชบุรี วิ่งแป๊บเดียวถึงแล้ว

ตลาดเจ็ดเสมียน

ผมวิ่งเลยตลาดเจ็ดเสมียนไปตลาดโพธารามก่อน กะไปหาข้าวกินตอนบ่าย ปรากฎว่าตลาดเขาติดเช้า กับมีนัดตอนเย็นเสาร์ อาทิตย์ บ่ายแผงยังไม่ได้ตั้งเลย เดินแล้วเหงา มีบ้านเรือนเก่าๆ น่าดู ถ่ายรูป เลยได้ไปซื้อ เต้าหู้ดำ แม่เล็ก ที่หลังตลาด ต้มเป็นหม้อใหญ่ 2 วัน 2 คืน เนื้อเต้าหู้เขานิ่ม หอมพะโล้ กินเล่นเปล่าๆ ก็อร่อย อมหวาน อมเค็ม รอบข้างยังมีอีกหลายแม่เต้าหู้ดำ เลือกซื้อกันตามสบาย

หาข้าวกิน มีคนแนะนำให้ไปกินร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด หยู่ไอ๋ ใกล้ๆ กับโรงหนังวิกครูทวี ซึ่งเป็นโรงหนังเก่า ปิดไปแล้ว เดินวนไปวนมาจนเจอ เสียดายไปสาย ก๋วยเตี๋ยวเป็ดหมด มีแต่ก๋วยเตี๋ยวหมู เส้นเล็กเหนียวนุ่มใช้ได้ บะหมี่ก็ดี คราวหน้าน้ำท่วมกรุงเทพค่อยมาใหม่

น้องจีพาย้อนกลับมาตลาดเจ็ดเสมียน โดยใช้เส้นทางเล็กๆ ผ่านหมู่บ้าน สวนสวย ไม่ต้องวิ่งออกเพชรเกษม ตลาดเจ็ดเสมียนขึ้นชื่อเรื่อง ไชโป๊ว มีแม่นั่นแม่นี่ หลายแม่ เห็นคนซื้อกันทุกแม่ โรงงานใหญ่ๆ ตั้งติดกัน จอดรถในวัดเจ็ดเสมียน ตลาดนี้เขามีตอนเช้า กับเย็นๆ เสาร์อาทิตย์ หลายคนผิดหวังนึกว่าจะได้เดินตลาดโบราณ จริงๆ มีแต่บ้านโบราณไม้ๆ กับนัดตลาดสด แต่ถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์สุดท้ายของเดือน มีละครของภัทราวดีแสดงริมน้ำด้วย ข้าวของน่าจะมากกว่า เสียดายผมไปไม่พอดีกัน ของขึ้นชื่ออีกอย่างคือ เค้กมะพร้าวอ่อน แต่ผมไม่ได้ชิม อิ่มซะก่อน

ตลาดดำเนินสะดวก

ผมเก็บเล่าเรื่องตลาดดำเนินสะดวกไว้สุดท้าย ทั้งๆที่วิ่งไปถึงสองหน เพื่อไปกิน “ข้าวแห้ง” ที่จั่วหัวไว้นั่นแหละครับ

ตลาดดำเนินวันนี้มีฝรั่งเที่ยวมากกว่าคนไทย ไปล่องเรือพาย ถ่ายรูป กินขนมเบื้อง ผลไม้ ซื้อเสื้อดำเนิน ของที่ระลึก คนไทยมักจะไปนั่งริมตลิ่งกินก๋วยเตี๋ยว คนฝรั่งไม่ค่อยกล้ากิน เขามีก๊อกน้ำต่อไว้ริมตลิ่งให้แม่ค้าล้างจาน ไม่ต้องใช้น้ำคลองซึ่งค่อนข้างดำ

“ข้าวแห้ง” หลายคนคงรู้จัก คนไม่รู้จักขอบอกว่ามันคือ ข้าวสวยใส่หน้าไก่หรือเป็ดสับต้มเค็มจางๆ ครับ ถ้าเอาน้ำซุปใส่ก็กลายเป็นข้าวต้มเป็ด ข้าวต้มไก่

ข้าวแห้งแต่เดิมทีเป็นมายังไง ถามแม่ค้า พ่อค้า ก็ไม่รู้ เกิดมาพ่อแม่ก็ขายอย่างนี้แล้ว ที่สมุทรสงคราม และชลบุรีก็มีข้าวแห้ง มีคนสันนิษฐานว่า เดิมแม่ค้าขายข้าวต้มเป็ด โดยนึ่งข้าวสวย มาต้มกับน้ำซุป แบบร้านข้าวต้มปลา วันหนึ่งลูกค้าเบื่อข้าวต้ม เลยสั่งข้าวสวยราดเป็ดหั่น ใส่กึ๋น ใส่เลือด ตักน้ำต้มเค็มใส่ไปหน่อยนึง โรยตั้งฉ่ายแบบข้าวต้ม และกระเทียมเจียว มีพริกน้ำส้มให้ใส่ปรุงรส เออ…อร่อยแหะ เลยเป็นที่มาของข้าวแห้งตั้งแต่นั้นมา

แต่ละที่ทำข้าวแห้งคล้ายคลึงกันแต่ไม่เหมือนกัน อย่างที่สมุทรสงครามเป็นข้าวแห้งเป็ด มีเนื้อเป็ดหั่น เลือดหั่น กึ๋นหั่น ใส่กระเทียมเจียว พริกน้ำส้ม มาที่ตลาดดำเนินเจ้าอร่อย พายเรือขายอยู่เจ้าเดียว ไปเมื่อไหร่ก็เจอ ขายข้าวแห้งไก่ พิเศษที่ใส่กุ้งแห้งทอดตัวโตรสไม่เค็ม กรอบๆ เข้ากันดีกับข้าวแห้ง และน้ำราดรสเข้มใช้ได้ เข้าคู่กับน้ำส้มพริกตำ

เดินเข้าไปด้านในตลาดดำเนิน มีตลาดเก่าชื่อเหล่าตั๊กลัก เป็นเรือนไม้โบราณริมน้ำ เจ้าหนึ่งขายผัดไทใส่กระทง ใส่น้ำปรุงรสชุ่มฉ่ำ และขายข้าวแห้งด้วย มีเครื่องเครามากกว่า ใส่ไส้หมูต้มเปื่อย หมูสับ ไก่หั่น เลือด เจ้านี้ใส่ปาท่องโก๋ตัวเล็กทอดกรอบแทนกุ้งแห้งทอดกรอบ

ตลาดน้ำบางนกแขวก

ออกจากตลาดดำเนินไปตลาดโบราณบางนกแขวกใกล้ๆ กัน อยู่ริมน้ำ นั่งรับลมเย็นสบาย มีหมี่กรอบ ผัดไทยกุ้งใหญ่ กระทงทอง และข้าวแห้ง ของที่นี่มีเครื่องหลายอย่าง

ในเมืองราชบุรี ก็มีข้าวแห้ง ทีนี้เพิ่ม ข้าวแห้งทะเล โดยลวกกุ้ง ปลา ปลาหมึก ไว้ และข้าวแห้งซี่โครงหมู ตีนไก่ ข้าวแห้งใส่หมูสับ กระเพาะหมู พวกต้มเปื่อยนี้ เอามาต้มกับน้ำ ใส่เกลือนิดหน่อย หรือน้ำซุปให้เปื่อย กระเพาะหมูหั่นเป็นชิ้นเล็ก ซี่โครงสับเป็นท่อน หมูสับลวกใส่น้ำซุปไว้ ตีนไก่ต้มเปื่อย เมื่อคนสั่ง ก็คีบอย่างโน้นอย่างนี้ใส่ตามใจคนสั่ง ราดด้วยไก่หั่นกับน้ำต้มเค็ม ใครอยากกินข้าวต้ม ก็ตักข้าวสวยนั้นไปต้มกับน้ำหรือน้ำซุป แล้วตักน้ำต้มเค็มกับไก่ใส่เป็นข้าวต้มไก่

การทำต้มเค็มใสๆ ไม่ใช่เรื่องยาก จะต้มเป็ดหรือไก่ก็ได้

ข้าวแห้ง

ข้าวแห้งไก่ หรือ เป็ด

เนื้อไก่ติดหนัง หรือ เนื้อเป็ดติดหนังหั่นเป็นชิ้นเล็ก

กึ๋นไก่ หรือกึ๋นเป็ด หั่นชิ้นเล็ก

ตีนไก่

เลือดไก่หั่นชิ้นเล็ก

น้ำมันพืช

ข่าหั่นละเอียดสักเล็กน้อย กรณีใช้เป็ด กันเหม็นเป็ด

ซีอิ๊วขาว

ซีอิ๊วดำหวาน

ซีอิ๊วดำเค็ม

น้ำตาลปี๊บ หรือ น้ำตาลทราย

ก้านอบเชย 1-2 ก้าน

โป๊ยกั๊ก 2-3 ดอก

รากผักชี 2-3 ราก

ตังฉ่ายดีๆ

กระเทียมเจียว

กุ้งแห้งตัวโตๆ ทอดกรอบ (หาแบบไม่เค็ม ไม่แดง)

น้ำส้มพริกตำ ( เอาพริกขี้หนู พริกชี้ฟ้าแดง มาตำกับกระเทียมให้ละเอียด แล้วใส่น้ำส้มสายชู)

ข้าวหุงสวย

เอาไก่หั่น กึ๋นหั่น ลงกระทะผัดกับน้ำมัน ใส่ข่าลงไปผัดให้หอมด้วยก็ได้ ให้ไก่ตึงตัว จะได้ต้มไม่แหลก แล้วใส่ซีอิ๊วดำหวานลงไปผัดให้จับไก่ เติมน้ำลงไปให้ท่วม ใส่ก้านอบเชย โป๊ยกั๊ก รากผักชี ต้มเดือดรุมๆ ใส่เลือดไก่ ต้มจนไก่กับกึ๋นเปื่อย ถ้าใส่ตีนไก่ควรต้มแยก ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำตาล ซีอิ๊วดำเค็ม ปรุงรสให้เข้ม และหอมเข้าไว้ เพราะต้องใช้ราดข้าว น้ำแห้งเติมน้ำได้

เมื่อได้ที่ตักข้าวใส่ถ้วย ตักเนื้อไก่ ตีนไก่ เลือดไก่ ราดข้าว ใส่น้ำต้มเค็มลงไปด้วยเล็กน้อย โรยตังฉ่าย กระเทียมเจียว กุ้งแห้งทอดกรอบ กินคู่กับพริกน้ำส้ม

แค่นี้ล่ะครับ ข้าวแห้ง อร่อยไม่อร่อย อยู่ที่น้ำต้ม กับ พริกน้ำส้มครับ

หนีน้ำเที่ยวนี้ อยู่ได้ก็เพราะข้าวแห้งนี่ล่ะครับ