วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ซี่โครงเซินเจิ้น


ยศพิชา คชาชีวะ

เส้นทางเศรษฐี ปักษ์แรก ตุลาคม 2554


ปกติคนไทยไปเซินเจิ้นเมืองคู่แฝดของฮ่องกงด้วยความเป็นของแถม เที่ยวฮ่องกง รวมมาเก๊า เซินเจิ้น เข้าไว้ด้วยกัน ช้อปปิ้งอย่างละหน่อย ที่เซินเจิ้นก็ไปเหยียบห้างดังหล่อหวู่ ขึ้นเรือจากฮ่องกงมาก็เจอเลย เขาว่ากันว่าเหมือนมาบุญครองบ้านเรา แต่ต้องต่อราคา 50-60% คนขายพูดอังกฤษ พูดไทยได้บ้างบางร้าน และถ้าอาหมวย อาตี๋เสียงดังล้งเล้ง สูบบุหรี่แบบเผื่อแผ่มะเร็งปอด ก็กลั้นๆ ใจไว้ ของเป้าหมายห้างนี้คือ แบรนด์เนมก๊อป มีหลายเกรด ต่อดีๆ ตาดีๆ ก็ได้ของดีเอาไปแจกเพื่อนฝูงที่ราคาถูกกว่าซื้อของก๊อปในเมืองไทย 1 หยวนตอนนี้ประมาณ 5 บาทครับ

คณะผมมีกัน 4 คน มุ่งตรงเซินเจิ้นอย่างเดียว เพราะทุรนทุรายซื้อตั๋วเครื่องบินแบบถูกบินตรง จองโรงแรมเองเอากลางดงช้อปปิ้งอีกแห่ง ตงเหมิน ภาษาอังกฤษสะกดว่า Dong Men แล้วแต่จะอ่านแล้วกัน

เซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจที่ “เติ้ง เสี่ยว ผิง” หมายมั่นปั้นมือให้เกิดคู่กับฮ่องกง จากเมืองชาวประมง กลายเป็นเมืองท่า ศูนย์กลางทางอากาศ ทางรถยนต์ รถไฟ มีเศรษฐกิจในลักษณะทุนนิยมที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมูนิสต์ และประสบความสำเร็จซะด้วย มีตึกสูงใหญ่ขึ้นชุกชุมพอๆ กับฮ่องกง คนของเขาเยอะจริงๆครับ แทบจะเดินชนกัน รถไฟใต้ดินวิ่งตัดกันโชะเชะให้พล่านไปหมด ดีเหมือนกันไปมุมไหนของเมืองใช้มุดใต้ดินเอา แล้วเดิน ผู้คนหนุ่มสาวแต่งตัวยังสู้คนฮ่องกงไม่ได้ แต่ก็ทันสมัยพอๆ กับไทย ที่ไม่เหมือนเลยคือภาษาครับ

ห้างหลอหวู่

ออกจากตึกหลอหวู่แล้วไปที่อื่นอย่างตงเหมิน ลงรถไฟห่างกันสองสามสถานี ไม่มีผู้คนพูดภาษาอังกฤษแล้ว แม้แต่เด็กหนุ่มเด็กสาวก็พูดแทบไม่ได้เลย ตามห้างพนักงานต้อนรับพูดได้นิดหน่อย พูดภาษาจีนกันอย่างเดียว ผมไปนั่งสั่งกาแฟในร้านแฮมเบอร์เกอร์ยี่ห้อระดับอินเตอร์ ในห้างทันสมัยแห่งหนึ่ง พยายามสั่ง Hot Coffee อาหมวยเธอเอาแต่ตอบภาษาจีน และส่งเสียงว่า โกปี๊ๆ เออ...โกปี๊ ก็ โกปี๊ ผลสุดท้ายได้กาแฟเย็นไม่ใส่น้ำแข็ง เฮ้อ..ขนาดตอนสั่ง ผมชี้ไปที่รูปกาแฟร้อน แล้วแลบลิ้นห้อยๆ เอามือโบกว่า ร้อนๆ แล้วนะ เธอก็ไม่พยายามเข้าใจเลย คิดแล้วอนาถตัวเองจริงๆ

เข้าใจว่าอีกประมาณ 2-3 ปี หนุ่มสาวที่เซินเจิ้นคงสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นกว่านี้ ผมเห็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษรณรงค์แจกใบปลิวอยู่ ทางการก็ส่งเสริมให้คนจีนเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อพัฒนาตนเอง และเสริมรายได้ขึ้น

ย่านตงเหมิน

ย่านตงเหมินเป็นเหมือนสยามสแควร์ แต่เดินสบายกว่า มีลานกว้าง ร้านรวงเป็นร้านๆ ขายพวกของแฟชั่น และแบรนด์เนมก๊อป พวกที่ไปด้วยกันหอบกระเป๋าแฟชั่นกลับไปหลายโหล ที่ดีอีกอย่างคือเขามีตำรวจตระเวณตลอด ไม่มีหาบเร่ จะมีคนขายผลไม้หอบลังโฟมมาตั้งบ้าง ก็ประเดี๋ยวประด๋าว เพราะโดนไล่ที่ ผลไม้เขาขายเข้าที เสียบแคนตาลูปฝานเป็นไม้ๆ หรือเสียบลูกไหนสามลูก (ลูกไหนคือลูกพรุนสด) มะม่วงเหลืองๆ หนุ่มสาวเซินเจิ้นชอบมาก

เรื่องชอบเอาไม้เสียบนี่ ผมไปเจอเขาขายอาหารประเภทหม้อร้อนคล้ายสุกี้ของเรา ในฟู้ดเซ็นเตอร์แห่งหนึ่ง เขาบรรจงเสียบผักกาดเป็นใบๆ ผักบุ้งเป็นท่อน เสียบลูกชิ้น เสียบปลาหมึก มีอะไรพวกเสียบไม้หมดทุกอย่าง แล้ววางให้ลูกค้าเลือกเป็นพวกๆ เลือกได้กี่ไม้ๆ ส่งให้คนทำหลังเคาน์เตอร์เอาไปลวกในน้ำ แล้วตักน้ำซุปใส่ชามมา ไปนั่งกิน ราคาคิดตามจำนวนไม้เป็นผักหรือเนื้อสัตว์ครับ

ด้วยความที่เซินเจิ้นมีคนมากประมาณ 20 ล้านคน มีรายได้ต่อหัวสูงถึงอันดับ 4 ของประเทศ ในเมืองยิ่งหนาแน่น จึงแย่งกันกินแย่งกันใช้ ค่าครองชีพก็สูง อาหารจานด่วนธรรมดาๆ อย่างข้าวหน้าแกงกะหรี่ ราคาจานละ 20 หยวน หรือ 100 กว่าบาท คนที่ไปด้วยเขาสั่งข้าวหมูเกาหลี ได้ข้าวสวย หมูชุบแป้งทอดชิ้นไม่ใหญ่ ไข่ดาวอีกสองฟอง เกือบ 200 บาท โอ้...อุแม่เจ้า ขอกลับไปกินข้าวไข่ดาวที่บ้านโดยด่วน

ระบบร้านอาหารจานด่วนของเขาน่าสนใจ เหมาะสำหรับการรับลูกค้าจำนวนมาก โดยการจำกัดอาหารไว้ไม่กี่อย่าง เช่น ข้าวเกาหลี ข้าวแบบญี่ปุ่น สปาเกตตี้ ฯ พร้อมเครื่องดื่ม ทำรูปติดไว้ เมื่อลูกค้ามามากๆ ก็เข้าคิวจ่ายตังค์ ผมใช้ชี้ๆ รูปเอา เพราะยังไงพูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วนำบิลล์ไปรับเครื่องดื่มตรงเคาน์เตอร์อีกที่หนึ่ง พร้อมกับถาด แล้วเลื่อนตามคนหน้าไปเรื่อยๆ กุ๊กข้างในหลายคนทำตามออเดอร์ไล่ไป อาหารใช้ตักโน่น ตักนี่ใส่ข้าว ราดน้ำซอสหน่อย จึงเสร็จเร็ว ไม่ต้องรอนาน ทุกอย่างทำไว้แล้ว อาหารได้ครบตามต้องการไม่ผิดเพี้ยน

อีกร้านหนึ่งเป็นร้านอาหารจีนที่มีหลายสาขาในเซินเจิ้น เป็นร้านขนาดใหญ่ มีโต๊ะเกิน 20 โต๊ะ แรกเข้าไปงงๆ เหมือนกันว่าจะสั่งอาหารอย่างไร พอนั่งลงที่โต๊ะ บริกรหมวยยกจาน พร้อมตะเกียบในซองกระดาษมาตั้งให้ และใบสั่งอาหาร น้ำชาร้อนๆ ในกา และถ้วยชาเล็กๆ แถมด้วยชามสเตนเลสอีกหนึ่งใบ พวกเรามองหน้ากันว่าเจ้าชามนี้เอามาทำอะไร น่าจะให้เอามาใส่ขยะ เราเลยใส่ขยะโน่นนี่ เกือบทุกร้านบริการให้แบบนี้ ตอนหลังถึงรู้ว่า คนเซินเจิ้นเขาเอาน้ำชาร้อนๆลวกช้อนกับตะเกียบใส่ในอ่างใบนี้ เดี๋ยวบริกรถึงจะมาเก็บไป

ครั้งหนึ่งผมไปฮ่องกง ทุกร้านจะยกแก้วชาแบบแก้วเหล้าให้หนึ่งแก้ว คนไทยยกซดกันเฉย แต่พอเหลียวมองโต๊ะคนจีนข้างๆ เขาเอาตะเกียบลงไปแช่ฆ่าเชื้อแหะ ช่างสะอาดกันดีจริงๆ

ผัดบรอคโคลี่

กลับไปที่ร้านในเซินเจิ้น วิธีสั่งอาหารเขาคือนำใบสั่งอาหารนั้นเดินไปที่เคาน์เตอร์อาหารในร้าน ตรงนั้นจะมีอาหารวางเรียงรายกันอยู่ในตู้กระจก เริ่มจากด้านซ้าย มีข้าวต้มขาว ข้าวต้มผสมถั่วเขียว อร่อยดี ข้าวต้มผสมลูกเดือยออกรสหวานปะแล่ม ข้าวต้มฟักทอง แล้วก็เป็นพวกซาลาเปา หมั่นโถว เสี่ยวหลงเปา ถัดมาเป็นอาหารพวกโรตี แป้งนึ่ง ทอด ใส่ไส้กุยช่าย หรือ โรยต้นหอม ต่อมาเป็นพวกอาหารก๋วยเตี๋ยวน้ำ ชี้เครื่องใส่ได้ตามชอบ ล็อกสุดท้ายเป็นอาหารจานเล็กๆ บรอคโคลี่ผัดดอกโตสีเขียวน่ากินมาก วิธีผัดง่ายๆ ใช้ลวกน้ำผสมเกลือให้เขียวสด ร้านอาหารจีนนิยมใช้โซดาไบคาร์บอเนตหรือผงฟูทำขนมอบ โปรยใส่น้ำเดือด แล้วหย่อนบรอคโคลี่ลงไป ต้มพอเขียวดี ตักขึ้นแล้วผ่านน้ำเย็น จะเขียวสวยอยู่อย่างนั้น ผัดบรอคโคลี่ของเขาไม่มีรสชาติอะไรมาก ผสมซีอิ๊วนิดหน่อยเอง แต่เคี้ยวเพลินดี

ผัดเส้นบุกกับสาหร่าย

ยังมีถั่วงอกผัด ผักบุ้งผัด เส้นบุกยาวๆผัดกับสาหร่ายสีเขียวยาวกรุบๆ แครอทอีกหน่อย กุ๊กของเขาผัดอยู่หลังเคาน์เตอร์ ลงกระทะใหญ่ทีเดียว ใส่น้ำมัน ใส่ผัก เครื่องปรุงคงจะหนีไม่พ้นซีอิ๊ว น้ำมันงา รอผักสลดดีตักใส่ถาดรอคนตักแจกจ่าย อาหารผัดแต่ละอย่างน้ำมันค่อนข้างมากตามสไตล์อาหารจีน กินแล้วเดินขึ้นลงรถไฟฟ้าพอขจัดไขมันไหวครับ

ข้างหลังด้านบนเขาจะติดรูปอาหารโชว์ไว้ด้วย แต่เราใช้วิธีชี้ๆ อาหารในตู้กระจก พร้อมยื่นใบสั่งอาหารให้เขาปั๊มตรายางตรงชื่ออาหารนั้นเป็นเรียบร้อย เรารอเขาตักอาหารแป๊บเดียว เอาใส่ถาดถือกลับโต๊ะได้เลย

ซี่โครงเซินเจิ้น

อาหารจานหนึ่งที่คนในคณะติดใจ และเป็นที่มาของชื่อเรื่องตอนนี้คือ ซี่โครงเซินเจิ้น เป็นกระดูกติดเนื้อต้มจนเปื่อย แทะมันมาก ที่จริงมันชื่ออะไรก็ไม่รู้ และไม่ใช่ซี่โครง แต่เป็น “เอียเล้ง!”

ไม่ผิดครับ เอียเล้งหรือกระดูกสันหลังหมู มีเนื้อติดอยู่ตามซอก คนจีนสอนให้ไทยเอามาต้มน้ำซุปทำน้ำก๋วยเตี๋ยว หวานอร่อยนัก อยู่เมืองไทยเรามักจะได้แทะเอียเล้งต่อเมื่อร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าประจำ ตักเอียเล้งมาให้แทะด้วย

เอียเล้งมีขายเป็นกิโล ตามตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต โลหนึ่ง 50-60 บาท ต้มน้ำซุปได้หม้อใหญ่ โดยผสมพริกไทยเม็ด รากผักชี (รสแบบไทยๆ จีนไม่ใส่) กระเทียม น้ำตาลกรวด อาจจะเพิ่มหัวไชเท้า ต้นหอมมัดทั้งกำ หอมใหญ่ ก่อนต้มล้างน้ำเอียเล้งเที่ยวนึง ใส่ลงหม้อ ต้มไฟแรงก่อน พอเดือด หรี่ไฟ แล้วคอยช้อนฟองทิ้ง อย่างนี้จะได้น้ำซุปใส ไม่ขุ่น กระดูกหมูอีกอย่างที่เอามาต้มน้ำซุปคือ คาตั้ง หรือกระดูกท่อนขาหมู ต้องเอามาล้างสะอาด ทุบให้แตก แล้วต้มพร้อมกับน้ำเย็น บางรายว่าต้องต้มน้ำเดือดก่อน ค่อยหย่อนคาตั้ง

ทุกโต๊ะที่ร้านนี้ต้องสั่งซี่โครงเซินเจิ้น บางรายสั่งข้าวหนึ่งถ้วย และซี่โครงแค่นั้น อย่างอื่นไม่เอา นั่งแทะพุ้ยข้าวอย่างเมามัน คนจีนที่นี่ดีอย่าง ไม่ว่าจะเดินกิน หรือกินในร้านอาหาร เขาแจกถุงมือพลาสติคให้ข้างหนึ่ง เอาไว้ใส่มือซ้ายหยิบจับอาหารโดยไม่ต้องล้างมือ และเลอะมือ นับว่าเป็นเรื่องอนามัยที่เราควรเอาอย่าง

เอียเล้งต้มเปื่อยนี้เขาเสิร์ฟมาแห้งๆ ต้องสะเด็ดน้ำให้ดีก่อนเสิร์ฟ เห็นเขาตักขึ้นมาจากหม้อรออยู่ในตะแกรง บางอันก็แทะง่ายเปื่อยดี บางอันต้องเอาตะเกียบแคะ โดยเฉพาะเนื้อไขข้างในโพรง ผสมเลือดผสมไขอร่อยเขาล่ะ

ผมนั่งวิเคราะห์แล้วว่าเอียเล้งตุ๋นนี้น่าจะต้องหมักก่อนแล้วมาตุ๋นจนเปื่อย

เมื่อกลับมากรุงเทพ คู่หูที่ไปด้วยกันไม่รอช้า ไปซื้อเอียเล้งมา 1 กิโล เลือกที่เนื้อติดเยอะๆ เอามาหมักซีอิ๊วดำเค็ม ซีอิ๊วขาวอย่างดีหอมๆ เหล้าจีน (ฉลากสีฟ้าๆ) น้ำมันงา พริกไทย เกลือนิดหน่อย และผงพะโล้สำเร็จรูป หมักไว้ประมาณครึ่งวันนอกตู้เย็น แล้วก็ใส่น้ำต้ม เติมซีอิ๊วอีกนิดหน่อยให้ดำๆ เข้าไว้ หย่อนอบเชยลงไป 1 แท่ง โป๊ยกั๊กอีก 2-3 ดอก เดือดแล้วเปิดไฟรุมๆ ต้มไปอีกชั่วโมงกว่า

ผลสำเร็จ ตักขึ้นมาสะเด็ดน้ำให้ดี จัดใส่จานเหมือนซี่โครงเซินเจิ้นเปี๊ยบ เอาไปให้คนในคณะที่ไปด้วยชิม เออ..บอกว่าคล้ายๆ ใช้ได้ คนที่ไม่ได้ไปด้วยขอชิม บอกแทะลำบากจังพี่ ขอเป็นซี่โครงหมูแทนไม่ได้เหรอ แต่ทุกคนชมเหมือนกันว่าหอม รสชาติดี เค็มหน่อยๆ เปื่อยกำลังดี

อย่างนี้น่าเอาไปทำขายครับ ดัดแปลงเป็นซี่โครงอ่อนหรือซี่โครงแก่ผมก็ว่าแทะมันดี แต่เป็นเอียเล้งต้นตำรับนี่แหละดี กระดูกทิ่มจมูกทิ่มแก้มดี และได้แคะกันสนุกสนาน สูตรนี้ไม่หวงลิขสิทธิ์ เพราะผมก็ก๊อปเขามา แบบเดียวกับเซินเจิ้นก๊อปของแบรนด์เนมล่ะครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น